บทความกฎหมายน่ารู้: สินบนและผลประโยชน์ทับซ้อน

  “สินบน”

สินบน หมายถึง ทรัพย์สิน ของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ ภาษาปากเรียกว่า เงินใต้โต๊ะ หรือเงินแป๊ะเจี๊ยะ เช่น เงิน สิ่งของ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ เป็นต้น

ตัวอย่างพฤติกรรมการให้สินบน

  • ชาวบ้านให้เหล้าหรือให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นสินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ หรือเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เมื่อไปติดต่อราชการ
  • โอนรถยนต์ให้แก่พนักงานเขต เพื่อให้ออกใบอนุญาตสถานบริการให้
  • เจ้าพนักงานที่ดินเรียกรับเงิน เพื่อให้การจดทะเบียนที่ดินเร็วกว่าปกติ
  • แม่ค้าจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่เทศบาล (เทศกิจ) เพื่อจะได้ค้าขายบนทางเท้าได้
  • การให้เงินแก่โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนรับลูกหลานเข้าเรียน
  • การให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมาย
  • พฤติกรรมที่ไม่ได้เรียกรับ แต่ไม่ปฏิเสธ เป็นสินบนประเภทหนึ่ง เรียกว่า กินตามน้ำ เช่น เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับงานรับเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียกร้อง เพื่อให้โครงการผ่านการตรวจรับ


  “ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ”

ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องใช้ดุลพินิจ พิจารณา หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ แต่ตนเองกลับมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปแอบแฝงในเรื่องนั้น ๆ หรือนำประโยชน์หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามามีอิทธิพลในการตัดสินใจดำเนินงานของรัฐ หรือใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ดุลพินิจหรือปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง

ตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

  • การรับผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การรับสินบน การรับของขวัญ การรับเงินบริจาค การเลี้ยงอาหารหรือการให้ความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการใช้งบประมาณเพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วเจ้าหน้าที่ได้รับของแถมหรือประโยชน์อื่นเป็นการตอบแทน เป็นต้น
  • การทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทของตนเอง หรือจ้างบริษัทตนเองเป็นที่ปรึกษา
  • การนำทรัพย์สินของหน่วยงานไปใช้ส่วนตัว
  • ลาออกจากหน่วยงานของรัฐไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน
  • เจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลภายในหน่วยงานว่าจะมีการตัดถนนบริเวณใดก็รีบไปซื้อที่ดินบริเวณนั้นเพื่อประโยชน์ในการเวนคืน
  • เจ้าหน้าที่ทำการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นเครือญาติของตนเอง สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หรือจะต้องไม่ใช่การเลือกส่งเสริมเฉพาะรายใดรายหนึ่ง และไม่เป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นให้เข้ารับการส่งเสริม แต่หากเป็นการส่งเสริมเฉพาะเครือญาติหรือให้สิทธิญาติตนเองได้รับผลประโยชน์มากกว่าเกษตรกรรายอื่น จะถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เจ้าหน้าที่ไม่พึงปฏิบัติ
  • หากชาวบ้านเป็นญาติ คนสนิท หรือแม้กระทั่งคนรู้จัก กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน แล้วมารับงานในหน่วยงาน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่มุ่งต่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องมากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ของหน่วยงานที่จะได้จากบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน อย่างแท้จริง

  “โดยหลักการ”

โดยหลักการ คือ กฎหมายห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วไม่ถึง 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น แต่มีข้อยกเว้นบางกรณีที่เจ้าหน้าที่สามารถรับไว้ได้โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย คือ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา

การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา หมายความว่า การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ (ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ คือ สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน) ที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ รวมถึงในโอกาสการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคมด้วย ได้แก่

  1. การรับจากญาติ ซึ่งสามารถรับได้ไม่จำกัดจำนวน ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง คู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน เหลน ลื่อ ลุง ป้า น้า อา บุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรม หรือจากญาติของคู่สมรส
  2. การรับเงินเดือน เงินสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง เป็นต้น
  3. การรับจากผู้ซึ่งไม่ใช่ญาติ โดยเป็นการให้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรม ที่มีราคาหรือมูลค่าแต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท เช่น พาไปรับประทานอาหาร มอบบัตรกำนัลของห้างสรรพสินค้า ให้กระเช้าของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ในเทศกาลปีใหม่ การต้อนรับเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทสังคม เป็นต้น
  4. การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้บุคคลทั่วไปโดยไม่เจาะจงผู้รับ เช่น การจับฉลาก

***
หากเจ้าหน้าที่ผู้ใดรับสินบนและ/หรือมีพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนจะมีความผิดตามกฎหมาย และมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
***



ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นพฤติกรรมการรับสินบน หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรผู้ปฏิบัติของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สามารถแจ้งข้อมูลผ่านช่องทาง ดังนี้

  1. กล่องรับเรื่องร้องเรียน
  2. ยื่นหนังสือหรือแจ้งด้วยตนเอง ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ
  3. ส่งไปรษณีย์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เลขที่ 65 หมู่ 1 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
  4. โทรแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ เบอร์ 053-328496-8 ต่อ 1109 ในวันและเวลาราชการ
  5. สายตรงผู้อำนวยการสถาบัน 053-328496-8 ต่อ 1203 ในวันและเวลาราชการ
  6. Email : [email protected]
  7. เว็บไซต์ https://www.hrdi.or.th
 

  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “คู่มือการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและการเรียกรับสินบน” และ “ประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เรื่อง มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อน โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ T:\สำนักอำนวยการ\55.รวมระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ของสถาบัน\29.ผลประโยชน์ทับซ้อนและการเรียกรับ สินบน หรือในเว็บไซต์ สวพส. ไปที่เมนู "การดำเนินงาน" > "คุณธรรมและความโปร่งใส (ITA)" > แท็บ "คู่มือ"

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กลุ่มงานนิติการ สำนักอำนวยการ
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
2. ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความน่าอ่านเพิ่มเติม