พื้นที่โครงการหลวง



เมื่อปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่ บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน รับสั่งถามว่านอกจากฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีกหรือเปล่า ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆกัน โดยที่ทรงทราบว่า สถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ ให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่ หวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวเพิ่มเติมจากสถานี วิจัยดอยปุยซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า สวนสองแสน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น
โครงการหลวงเริ่มต้นจากโครงการที่ประกอบด้วยผู้ที่เป็นอาสาสมัครและเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากต่างประเทศ ในที่สุดเป็นโครงการที่มากมายใหญ่โตขยายออกไปจากการช่วยประชาชนในหมู่บ้าน ในวงจำกัด จนกระทั่งเป็นการช่วยเหลือเท่ากับเป็นภาคทีเดียว จึงต้องมีการบริหารที่ดีขึ้น และก็มีคนได้ช่วยบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อที่จะให้โครงการนี้ดำเนินไปตามจุดประสงค์ คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” เพื่อที่จะให้กิจการนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างสม่ำเสมอ ในการที่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ อย่างดีโดยเอื้อเฟื้อบุคลากรและ งบประมาณที่จะช่วยให้ทำได้ตามจุดประสงค์...”