บทความกฎหมายน่ารู้: การมอบอำนาจ
คำว่า “มอบอำนาจ” ตามความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า “มอบหมายให้มีอำนาจจัดการหรือทำการแทน” โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีการมอบอำนาจ 2 ลักษณะ คือ การมอบอำนาจทั่วไป และการมอบอำนาจโดยเทียบเคียงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 หรือที่เรียกว่าการมอบอำนาจให้ปฏิบัติงานแทน
“การมอบอำนาจทั่วไป”
การมอบอำนาจทั่วไป เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินการทั่วไปในลักษณะตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าตัวการหรือผู้มอบอำนาจ มอบอำนาจให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ ให้มีอำนาจปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทน ซึ่งการกระทำนั้นมีผลทางกฎหมายเสมือนว่าตัวการหรือผู้มอบอำนาจกระทำด้วยตนเอง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่บริหารกิจการของสถาบัน สำหรับกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้อำนวยการสถาบันถือเป็นผู้แทนของสถาบัน สามารถมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ตามมาตรา 30 ประกอบกับมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น การมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความร้องทุกข์หรือลงบันทึกประจำวัน การมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่าง ๆ การมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องการขึ้นทะเบียนอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) หรือการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยื่นเอกสารเพื่อขอรับใบอนุญาตผลิตซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ เป็นต้น ในกรณีที่มีเหตุเร่งด่วนที่ไม่สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรได้ทัน ผู้อำนวยการสถาบันอาจมีการมอบอำนาจด้วยวาจาได้ แต่ทั้งนี้จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังทันทีโดยไม่ชักช้า
นอกจากนี้การมอบอำนาจลักษณะนี้จะทำเป็นรูปแบบหนังสือมอบอำนาจ โดยหนังสือมอบอำนาจ จะต้องปิดแสตมป์เพื่อเสียค่าอากรตามประมวลรัษฎากร หรือการปิดอากรแสตมป์ ซึ่งมี 3 กรณี คือ (1) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว เสียค่าอากรแสตมป์ 10 บาท (2) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว เสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และ (3) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ซึ่งหากไม่ปิดแสตมป์เพื่อเสียอากรจะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้
“การมอบอำนาจให้การปฏิบัติงานแทน”
เป็นการมอบอำนาจให้ปฏิบัติงานแทนโดยเทียบเคียงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ เป็นการมอบอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้มอบอำนาจเพื่อให้ผู้รับมอบอำนาจปฏิบัติงานแทนในเรื่องนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจและความรับผิดชอบที่เหมาะสม เพื่อเกิดความคุ้มค่า ความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน อีกทั้งต้องไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอนหรือระยะเวลาในการใช้อำนาจและต้องไม่ผ่านการพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ มากเกินความจำเป็น การมอบอำนาจกรณีนี้ต้องทำเป็นหนังสือระบุเนื้อหาเกี่ยวกับผู้รับมอบอำนาจ อำนาจที่มอบ และหลักเกณฑ์การใช้อำนาจของผู้รับมอบอำนาจ
เมื่อผู้มอบอำนาจได้มีคำสั่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งใดปฏิบัติงานแทนแล้ว คำสั่งนั้นย่อมมีผลผูกพันให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับมอบอำนาจนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานแทนผู้มอบอำนาจตามที่ได้รับมอบอำนาจไว้ ผู้ปฏิบัติงานแทนจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งมอบอำนาจ และการมอบอำนาจจะคงมีอยู่ตลอดไปจนกว่าจะมีการเพิกถอน หรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลา หรือโดยเหตุอื่น ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจจะปฏิเสธไม่ยอมรับการมอบอำนาจไม่ได้ และหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ผู้รับมอบอำนาจจะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนไม่ได้ อีกทั้งเมื่อผู้มอบอำนาจได้มอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งใดปฏิบัติงานแทนแล้ว ผู้มอบอำนาจก็ไม่ได้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามที่ได้มอบอำนาจไปแล้วแต่อย่างใด ผู้มอบอำนาจยังคงต้องมีหน้าที่กำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้รับมอบอำนาจให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือระเบียบกำหนดไว้ รวมทั้งมีหน้าที่แนะนำหรือแก้ไขการปฏิบัติงานของผู้รับมอบอำนาจได้
ดังนั้น ผู้อำนวยการสถาบันซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการของสถาบันตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติงานแทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องก็ได้ โดยการทำเป็นคำสั่งมอบอำนาจ การมอบอำนาจลักษณะนี้เรียกว่า “การมอบอำนาจให้ปฏิบัติงานแทน” เช่น กรณีที่ผู้อำนวยการสถาบันได้มีคำสั่งมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการสถาบันลงนามอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ตลอดจนดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท แทนจนเสร็จสิ้น หรือกรณีที่ผู้อำนวยการสถาบันได้มีคำสั่งมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการลงนามอนุญาตการลาป่วยของเจ้าหน้าที่ของสำนักอำนวยการแทน เป็นต้น