กัญชง (Hemp) ของแม่

กัญชง 29 สิงหาคม 2562

เขียน / เรียบเรียงเรื่อง: สริตา ปิ่นมณี (นักวิจัย)

พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 27 มกราคม 2546 พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่เกี๋ยง ต. เมืองนะ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ พ.ศ. 2547

“...โดยเฉพาะกัญชง ให้พิจารณาข้อดี และตัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ก็จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ เพราะให้เส้นใยที่มีคุณภาพ...”
“...สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้...”

กัญชง (Hemp) ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์

เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์หรือกัญชง (Cannabis sativa) และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูกเฮมพ์อย่างจริงจังในประเทศไทยเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากการผลิตหัตถกรรมต่อเนื่อง และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ฯ มูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์เฮมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา-ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลัก “เกษตรกรบนพื้นที่สูงสามารถปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” เพราะเฮมพ์ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ณ วันนั้น ตามกฎหมายแล้ว เสื้อผ้า กระเป๋า ที่เป็นใยกัญชงก็จัดเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมายไปหมด

งานในช่วงแรก (พ.ศ. 2548-2560) ได้ขออนุญาตศึกษาวิจัย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ให้อนุญาตเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น) ระหว่างทำงานได้รายงานผลต่อผู้ให้อนุญาต (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา; อย.) อย่างสม่ำเสมอ และได้นำผลการศึกษาวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ต่อมา ปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศยกเว้นส่วนของ เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ออกจากการเป็นยาเสพติด แต่กฎหมายระบุไว้ชัดที่ให้อนุญาตปลูกเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น จึงยังคงเป็นปัญหาว่าจะได้เปลือกแห้ง แกนแห้งมาได้อย่างไร ชาวบ้านก็ขอทำวิจัยไม่ได้

“กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559” เป็นกฎกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561 และระยะ 3 ปีแรก (พ.ศ. 2561-2563) ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขออนุญาต กำหนดปริมาณสารเสพติด THC (tetrahydrocannabinol) ไว้ไม่เกิน 1.0 % ต้องขออนุญาตตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อนี้เท่านั้น

 
เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์
เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับการศึกษาวิจัย
เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสําหรับจําหน่าย หรือแจกสําหรับการส่งเสริมตามวัตถุประสงค์ (1) (2) หรือ (3)
เพื่อจําหน่ายเมล็ดพันธุ์รับรอง ลําต้นสด หรือส่วนอื่น ๆ ตามที่ได้รับอนุญาต สําหรับใช้ประโยชน์ตาม (1) (2) (3) หรือประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด แล้วแต่กรณี
เพื่อครอบครองสําหรับใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด การดําเนินการตามวัตถุประสงค์ใน (1) และ (2) ห้ามมิให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์สําหรับการเพาะปลูก
 

การปลูกเฮมพ์ แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ตามเป้าหมายการใช้ประโยชน์

อายุสั้น หรือประมาณ 90 วัน ตามรูปแบบการปลูกของชนเผ่าม้งในการนำเปลือกไปทำเส้นใย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม คือ

1.1ลำต้น = เปลือก (fibre)+แกน (shivs)

1.2ใบ (leaves)

 

อายุปานกลาง หรือประมาณ 120-150 วัน

2.1ดอก (flower)

2.2ลำต้น = เปลือก (fibre)+แกน(shivs)

2.3ใบ (leaves)

 

อายุยาว หรือประมาณ 180 วัน

3.1เมล็ด (seed)

3.2ลำต้น = เปลือก (fibre)+แกน(shivs)

3.3ใบแก่ (leaves)

ประโยชน์ของเฮมพ์

 

เปลือกลำต้น (fibre)

ทำเป็นเส้นใย ซึ่งจัดเป็นเส้นใยยาว ที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ไม่เกิดเชื้อราแบคทีเรียได้ง่าย และระบายความชื้นได้ดี สามารถนำมาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เชือก วัสดุเสริมแรงในพลาสติกชีวภาพ

แกนลำต้น (shivs)

มีน้ำหนักเบา นิยมนำมาทำเป็นวัสดุรองคอกม้าแข่ง ผสมเป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่ง สวพส. ได้วิจัยและพัฒนาสูตรการผลิตคอนกรีตผสมแกนเฮมพ์ (Hempcrete) และวัสดุทดแทนไม้จากแกนเฮมพ์ ซึ่งเปลือกและแกนเฮมพ์จัดเป็นวัสดุโครงสร้างมวลเบา (lightweight Structure) แต่มีความแข็งแรงทนทาน มีคุณสมบัติเป็นฉนวนในการดูดซับเสียงและแรง สวพส.ได้ศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการงานก่อสร้าง พร้อมทั้งสร้างบ้านเฮมพ์ (Hemp house) ไว้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

ใบ (leaves)

เป็นส่วนที่มีสารเสพติด THC แต่ใบที่มีจะมี THC สูงจะเป็นใบยอด หากเป็นใบที่เริ่มเหลืองก็จะมีปริมาณ THC ลดน้อยลง มีการศึกษาวิจัยนำใบเฮมพ์มาสกัดซึ่งจัดว่าเป็นหัวน้ำหอมชั้นดี (ISMED, 2555) ในต่างประเทศมีการนำใบมาทำเป็นชาชงดื่ม

ดอก (flower)

นำมาสกัดให้ได้สารสำคัญ Cannabidiol (CBD) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านสาร THC (THC antagonist) มีฤทธิ์ลดอาการชัก ต้านการอักเสบ และลดอาการคลื่นไส้

เมล็ด (seed)

มีโปรตีน 20-30% ไขมันประมาณ 20-25% และประมาณ 80% ของไขมันมี Essential Fatty Acid หรือ โอเมก้า6:โอเมก้า3 สัดส่วน 3:1 ซึ่งเหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ ซึ่ง สวพส. ได้ศึกษาวิจัยเมล็ดเฮมพ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ไว้แล้ว รวมทั้งได้พัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพในรูปแบบของ น้ำมันจากเมล็ดเฮมพ์ในแคปซูล และโปรตีนจากเมล็ดเฮมพ์อัดเม็ด
 

การใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์เฉพาะด้านสิ่งทอเท่านั้น โดยชาวเขาชนเผ่าม้งจะปลูกและแปรรูปเฮมพ์ตามภูมิปัญญาตามวิถีของชนเผ่าม้ง ส่วนมากใช้ประโยชน์จากเปลือกลำต้นที่มีเส้นใยคุณภาพดี จึงนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มและใช้สอยในครัวเรือน เช่นชุดประจำชนเผ่า เส้นด้ายสายสิญจน์ สำหรับผูกข้อมือหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทำเป็นเชือกหน้าไม้ หรือเชือกใช้สอยทั่วไป และการใช้ประโยชน์ในอดีตนั้นยังผิดกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หลังจากที่ สวพส.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีทำให้มีการแก้ไขกฎหมายและ พ.ศ.2522 จัดว่าเฮมพ์เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา จำเป็นต้องขออนุญาตต่อกระทรวงสาธารณสุขได้เฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น ซึ่ง สวพส.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาวิจัยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายและทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกเว้นส่วนของ เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง (8 ก.ค. 2556) ทำให้สามารถซื้อขายวัตถุดิบ เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งและผลิตภัณฑ์ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
พ.ศ. 2559 “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 มกราคม 2560 ทำให้สามารถขออนุญาตปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ได้ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขได้ เช่น การปลูกเพื่อใช้สอยในครัวเรือน การปลูกเพื่อเชิงพาณิชย์ การปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์
พ.ศ. 2562 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ได้ประกาศยกเว้นส่วนต่างๆ ของกัญชง (Hemp) ออกจากยาเสพติดดังนี้
  1. แคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ที่สกัดจากกัญชง ซึ่งมีความบริสุทธิ์ 99 % และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.01 %
  2. สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดที่มี แคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) และ แคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2%
  3. เมล็ดกัญชง (Hemp seed) ที่ไม่งอก หรือไม่มีชีวิต และน้ำมันจากเมล็ดกัญชง เพื่อใช้เป็นอาหาร
  4. น้ำมันจากเมล็ดกัญชงเพื่อใช้เป็นเครื่องสำอาง
 
ปัจจุบันทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศแก้ไขกฎหมายออกมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามการผลิตหรือปลูกยังคงต้องขออนุญาตต่อกระทรวงสาธารณสุขก่อนการปลูกหรือผลิต ซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เข้าไปสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อการพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป และใช้เวลาในดำเนินการประมาณ 5-6 เดือน ดังนั้นผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลและดำเนินการขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี
โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและหาข้อมูลได้จากเว็ปไซต์ของ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

ช่วงการปลูกที่เหมาะสม พ.ค. - ก.ค.
อุณหภูมิเฉลี่ย: 13-22° C
ค่า pH: 6.0-7.5
"กัญชง" (Hemp) พืชดั้งเดิมตามวิถีชุมชนบนพื้นที่สูงสู่พืชเศรษฐกิจในอนาคต - รายการ LIVE ช่อง 7 HD ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยนักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง - สริตา ปิ่นมณี
รวม 1,663,504 บาท
ดูเรื่อง "เฮมพ์" ทั้งหมด
การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์เฮม (2561)
การศึกษาและทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิต (2561)
การศึกษาและพัฒนากระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเส้นใยเฮมพ์คุณภาพดี (2561)
การคัดเลือกพันธุ์เฮมพ์สายพันธุ์แท้ (2561)
การศึกษาช่วงเวลาปลูกเฮมพ์ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเส้น ใยเฮมพ์คุณภาพดี (2560)
สริตา ปิ่นมณี
(นักวิจัย, สำนักวิจัย, สวพส.)
รัตญา ยานะพันธุ์
(นักวิจัย, สำนักวิจัย, สวพส.)
ศักดิ์ศิริ คุปตรัตน์
(เจ้าหน้าที่โครงการ, สำนักวิจัย, สวพส.)
 

Share this: