การประเมินผลกระทบจากงานวิจัย โครงการวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวบนพื้นที่สูง

การประเมินผลกระทบจากงานวิจัย

โครงการวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวบนพื้นที่สูง ของ สวพส.

 

 

          การประเมินผลกระทบจากงานวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวบนพื้นสูง อาศัยข้อมูลจากงานวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวบนพื้นสูง ตั้งแต่ปี 2554-2561 และข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง นำมาประมวลสถานภาพ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบจากงานวิจัย ผลการศึกษาพบว่า มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจของชุมชนมากที่สุด โดยเป็นการเพิ่มความหลากหลาย และรักษาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นบนพื้นที่สูง มากถึง 433 พันธุ์ พันธุ์ข้าวนาทนแมลงบั่ว 2 พันธุ์ พันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ 8 พันธุ์ และทำให้ชุมชนมีปริมาณข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 43.26 เพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ปริมาณข้าวเพียงพอบริโภคในชุมชน ลดต้นทุนการปลูกข้าวได้ถึง ร้อยละ 17.18  ด้านสังคมเกิดการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวก่อให้เกิดการเพิ่มรายได้ เสริมสร้างเครือข่าย และขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนใกล้เคียง ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้แทนเจ้าหน้าที่ได้ ร้อยละ 49.52 ของจำนวนเกษตรกรที่ได้นำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีวิธีการปลูกข้าวไร่ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ที่มาของปัญหา

           กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีข้าวเป็นพืชอาหารหลัก พันธุ์ข้าวท้องถิ่นบนพื้นที่สูงมีความหลากหลาย และมีโภชนาการสูง ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาข้าวไม่พอบริโภค/พันธุ์ข้าวบนพื้นที่สูงสูญหาย/สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการปลูกข้าว รวมถึงการระบาดของแมลง โดยเฉพาะแมลงบั่วที่ทำลายทั้งข้าวนาและข้าวไร่
ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 40%

           เมื่อ...เห็นปัญหาแล้ว สวพส. จึงสนับสนุนให้นักวิจัยทำงานวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน จนได้ผลงานวิจัยสำหรับให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ ดังนี้

          - รวบรวมพันธุ์ข้าวท้องถิ่น 433 พันธุ์ (ข้าวนา 171, ข้าวไร่ 262) พันธุ์ข้าวนาทนแมลงบั่ว : บือแม้ว บือวาเจาะ พันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ 8 พันธุ์: เฮงาะเลอทิญ บือชอมี บือบอ เล่าทูหยา เบี้ยวจิ๊กู๋ เจ้าเปลือกดำ ข้าวก่ำ เบล้เจ่าข้าวม้งคั่ว
          - องค์ความรู้ วิธีการคัดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่น วิธีปลูกข้าวต้นเดียว วิธีการให้น้ำแห้งสลับน้ำขังระยะข้าวแตกกอลดการใช้น้ำ วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวนา วิธีการปลูกข้าวไร่ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
          - คู่มือการคัดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง ที่ได้รับรองการแจ้งลิขสิทธิ์แล้ว
          - พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องดอย 4 ผลิตภัณฑ์

 

 

 

เมื่อ...เกษตรกรนำองค์ความรู้งานวิจัยไปปรับใช้ เกิดการเปลี่ยนแปลง

ระยะสั้น

  •      -  ชุมชุนรวบรวม รักษาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นไว้กับชุมชน
  •      -  เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ รวมเมล็ดพันธุ์ข้าวทนแมลงบั่ว และพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อใช้ปลูกทุกปี
  •      -  เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีองค์ความรู้และวิธีการคัดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่น วิธีปลูกข้าวต้นเดียว วิธีการให้น้ำแห้งสลับน้ำขังระยะข้าวแตกกอลดการใช้น้ำ วิธีการใส่ปุ๋ยข้าวนา วิธีการปลูกข้าวไร่ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ คิดเป็น 33% ของพื้นที่ปลูกข้าวนาของทั้งสองพื้นที่

ระยะกลาง

  •      -  เกษตรกรมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค และมีเหลือจำหน่ายสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตข้าว ผลผลิตข้าวนาเพิ่มขึ้นจาก 522 กก./ไร่ เป็น 920 กก./ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 43.26 และลดต้นทุนการผลิตจาก 7,825 บาท/ไร่ เหลือ 6,481 บาท/ไร่ คิดเป็นร้อยละ 17.18 (ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ลง 40-70%)
  •      -  เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าว เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโครงการหลวง 4 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ข้าวโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 4 ผลิตภัณฑ์
  •      -  นักวิจัยมีผลงานทางวิชาการเผยแพร่ผลงานทั้งในและต่างประเทศ

 ระยะยาว

  •      -  มีความมั่นคงทางอาหาร ปริมาณข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในชุมชน และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนข้าวเพื่อบริโภค
  •      -  ยกระดับผลิตภัณฑ์ มีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายข้าวคุณภาพ และโภชนาการสูง
  •      -  เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวผ่านมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ได้เองอย่างต่อเนื่อง เกิดการรวมกลุ่ม ขยายองค์ความรู้โดยเกษตรกรสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจในชุมชนและนอกชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง
  •      -  มีการปลูกข้าวไร่ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

“งานวิจัยแต่ละเรื่อง ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1 ด้าน”

           นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ตามเป้าหมายของ สวพส. โดยการนำไปใช้ประโยชน์จะเน้นสำหรับนำไปถ่ายทอดส่งต่อเกษตรกรเป้าหมาย จากงานวิจัยในแต่ละเรื่องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1 ด้าน เช่น

           ด้านสาธารณะ เกษตรกร เกิดการยอมรับองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ใน 21 พื้นที่
เป็นพื้นที่โครงการหลวง 13 พื้นที่ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 8 พื้นที่ จากพื้นที่ปลูกข้าวนาในพื้นที่โครงการหลวงมีการปลูกข้าวนาจำนวน 39 ศูนย์/สถานี และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงมีการปลูกข้าวนา 24 พื้นที่ 4,262 ไร่ รวมแล้วเกิดการใช้ประโยชน์คิดเป็น 33.33 ของพื้นที่ปลูกข้าวนาของทั้งสองพื้นที่

           พาณิชย์ เกิดรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยมูลนิธิโครงการหลวงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าว 4 ผลิตภัณฑ์ และเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงรวมกลุ่มเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ และผลิตภัณฑ์ข้าวจำหน่าย 4 ผลิตภัณฑ์

           วิชาการ จัดทำคู่มือ สื่อ/สิ่งพิมพ์ VTR เผยแพร่ในเว็บไซต์ สวพส. และฐานข้อมูลองค์ความรู้งานวิจัย เผยแพร่ผลงานโดยการจัดนิทรรศการ เช่น นิทรรศการวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ของกรมการข้าว นิทรรศการโครงการหลวง และนิทรรศการสัมมนาวิชาการ นำเสนอผลงานทั้งเวทีในประเทศ และต่างประเทศ รวม 12 เรื่อง เช่น นำเสนอผลงานภาคบรรยายในการประชุมวิชาการ “1st International Conference on Asian Highland Natural Resources Management (AsiaHiLand) and 2nd IDRC-SEARCA Upland Fellowship and Conference The Empress Hotel, Chiang Mai, Thailand ตีพิมพ์ผลงานวิจัย เรื่อง “Improvement of Local Rice Productivity in the Thai Highland Areas” ในวารสาร Environment and Natural Resources Journal Volume 12, Number 2, Dec 2014 ตีพิมพ์บทความเรื่อง “การเพิ่มผลผลิตข้าวนาดำบนพื้นที่สูง” ใน Royal Project Journal ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ข้าวนาน้ำน้อย ดีอย่างไร” ในวารสาร สวพส. เป็นต้น

 

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นฤมล ศรีวิชัย / นักวิเคราะห์นโยบายและแผน

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง