สวพส. กับการวิจัยและพัฒนากาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูง

สวพส. กับการวิจัยและพัฒนากาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูง

          ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีของการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง กาแฟเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเพื่อทดแทนพืชเสพติด โดยเฉพาะกาแฟอะราบิกาที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้ดีบนพื้นที่สูง เสริมสร้างการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรมาปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของไม้ป่าท้องถิ่น นอกจากนี้ผลผลิตกาแฟสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและมีความเสียหายน้อยจากการขนส่ง และที่สำคัญคือสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับครัวเรือนได้ เป็นต้นแบบของการพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนได้

          จากความสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวทางโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้น้อมนำผลสำเร็จการพัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวงมาขยายผลสำเร็จสู่การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอื่นๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  โดยได้นำองค์ความรู้ด้านการปลูกและผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพไปส่งเสริมให้เกษตรกร มุ่งเน้นวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาวิธีการปลูกและการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ดำเนินการแบบครบวงจรภายใต้กรอบการวิจัยและพัฒนา กาแฟอะราบิกาคุณภาพ ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่การปลูก การจัดการผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน    2,345 คน พื้นที่ปลูกประมาณ 5,624 ไร่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี

       พื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าของ สวพส. ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง

          เพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพในการปลูกกาแฟอราบิก้าของเกษตรกร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงได้ดำเนินงานวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟคุณภาพของโครงการหลวง การเพิ่มผลผลิตกาแฟด้วยวิธีการตัดเพื่อสร้างลำต้นใหม่ ระบบการปลูกกาแฟอราบิก้าใต้ร่มเงาภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำการจัดการธาตุอาหารด้วยการวิเคราะห์ดินและพัฒนาสูตรปุ๋ยในการเพิ่มผลผลิตกาแฟ วิธีการแปรรูปแบบใช้น้ำน้อย ด้วยวิธีการหมักแบบไม่ใช้น้ำที่ 16 ชั่วโมง ทำให้ได้กาแฟกะลาคุณภาพดีเที่ยบเท่ากับการแปรรูปแบบเดิม แต่ช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการหมักเมล็ดกาแฟได้ การศึกษาแนวทางเพื่อพัฒนาศักยภาพการตลาดกาแฟอราบิก้าโครงการหลวงและสวพส. ทำให้ได้ข้อเสนอแนะสำหรับการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เหมาะสมกับตลาดของกาแฟ รวมถึงการวิเคราะห์กระบวนการส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในพื้นที่โครงการหลวงและสวพส. และจัดทำแนวทางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

          กาแฟอราบิก้าเป็นพืชเครื่องดื่มที่มีศักยภาพในการนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเพื่อเป็นรายได้ กาแฟอราบิก้าเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในพื้นที่สูงอากาศเย็น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยว แปรรูปและเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการจำหน่ายได้ การขนส่งจากพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากสามารถทำได้โดยมีความเสียหายของผลผลิตน้อย และที่สำคัญคือกาแฟปลูกร่วมกับป่าไม้ในชุมชนได้ และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ เป็นการสร้างป่า สร้างรายได้ให้กับชุมชน สวพส. แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลก็ยังขาดทักษะ และองค์ความรู้ในหารปลูกกาแฟที่ดี ดังนั้น สวพส. จึงได้ดำเนินงานส่งเสริมควบคู่ไปกับงานวิจัย มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในพื้นที่ต่างๆ ช่วยเพิ่มทักษะในการปลูกและแปรรูปให้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน สวพส. มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง และน่าน รวม 22 แห่ง พื้นที่ปลูก 5,455 ไร่ และเกษตรกร 2,570 คน ผลผลิตรวมเป็นมูลค่ารายได้ ประมาณ 49.8 ล้านบาท  โดยผลผลิตผลกาแฟของเกษตรกร 275 ราย ได้รับมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดีหรือ GAP ของโครงการหลวง รวมพื้นที่ 2,567.73 ไร่ และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตกาแฟอินทรีย์ (Organic) จากเกษตรกร 167 ราย พื้นที่ 332.97 ไร่

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง นักวิจัย 5 สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

งานวิจัยและพัฒนากาแฟอะราบิกา มูลนิธิโครงการหลวง

งานตลาดและสถาบันเกษตรกร สวพส.


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง