หมูดำ ที่ไม่ได้มีดีแค่เนื้อ

“หมูดำ ที่ไม่ได้มีดีแค่เนื้อ”

 

           

 

               การเลี้ยงหมูของเกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงเพื่อบริโภค และนำไปใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ ที่เหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโดยให้กินเศษอาหารและเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งลักษณะหมูบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่จะมีสีดำ ลำตัวค่อนข้างสั้น มีเต้านมประมาณ 5 คู่ อายุการเป็นหนุ่มสาว 5-8 เดือน ลูกหย่านม ตั้งแต่ 0-10 ตัว มีเจริญเติบโตช้าเนื่องจากคุณภาพอาหารต่ำ และคุณภาพซากมีไขมันสูงมากถึง 70% (ธีระ และโชค, 2523) ปัจจัยสำคัญของการเลี้ยงหมูบนพื้นที่สูง คือ พันธุ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้วิจัยสายพันธุ์ของหมูได้สายพันธุ์ลูกผสมสามสายพันธุ์ (พื้นเมือง – เหมยซาน - เปียแตรง) ซึ่งมีลักษณะมีสีดำทั้งตัว ทนทานต่อโรค และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูง พ่อพันธุ์มีสีดำ รูปร่างสมส่วน แม่พันธุ์สีดำ มีจำนวนเต้านม ตั้งแต่ 7 คู่ ถึง 8 คู่ ให้ลูกมีชีวิตเฉลี่ย 8.4 ตัวต่อครอก ลูกหมูขุนมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.6-0.8 กิโลกรัมต่อวัน โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 75 วัน ได้น้ำหนักตัวเฉลี่ย 60 กิโลกรัม โดยมีเครื่องหมายโมเลกุลของยีน MC1R727 มีค่าความแม่นยำในการทำนายลักษณะสีดำในหมูบนพื้นที่สูง สูงสุดถึง 88.4 เปอร์เซ็นต์

 

 

 

           

 

             นอกจากสายพันธุ์แล้ว การเลี้ยงหมูจะเลี้ยงแบบปล่อยหรือผูกมัดไว้ใต้ถุนบ้าน รวมกับสัตว์อื่นๆ ไม่มีพื้นที่เลี้ยงชัดเจนทำให้เกิดมลพิษจากสิ่งขับถ่าย ทั้งปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น และการปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของคนในชุมชน รวมถึงอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและโรคระบาดได้ เจ้าหน้าที่ สวพส. ได้ศึกษาวิจัยลักษณะคอกและวัสดุรองพื้นคอกจากสิ่งเหลือทิ้งทางเกษตรในการเลี้ยงหมูหลุมบนพื้นที่สูง พบว่ารูปแบบหมูหลุมแบบไม่เทพื้นคอกและขุดหลุม ก่อบล็อกรอบสี่ด้าน โดยคอกมีความกว้าง  2 เมตร ยาว 3 เมตร และลึก 0.9 เมตร สามารถเลี้ยงหมูได้ 3-4 ตัว แบ่งหลุมเป็น 3 ชั้นละ 30 เชนติเมตร ชั้นที่ 1 ชั้นล่างสุดนำต้นกล้วยหรือหญ้าสดมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ เกลี่ยให้ทั่ว เสร็จแล้วโรยเกลือที่ได้เตรียมไว้ให้ทั่วชั้น จากนั้นใช้กากน้ำตาล น้ำหมักผักผลไม้ หรือเชื้อจุลินทรีย์ EM 2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ จำนวน 10 ลิตร ราดลงบนพื้นให้ทั่ว นำวัสดุรองพื้นคอกชนิดต่างๆ เทลงบนพื้นคอกเกลี่ยให้เรียบ ทำชั้นที่ 2 และ 3 ให้เหมือนกับชั้นที่ 1 ราดพื้นคอกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งให้ทั่ว และหมักคอกทิ้งไว้ 7 - 14 วัน ก่อนนำหมูเข้าเลี้ยง

 

 

 

 

              การเลี้ยงแบบหมูหลุมสามารถใช้วัสดุรองพื้นได้หลายรูปแบบ โดยพบว่าการใช้กากกาแฟ หรือกาแฟกะลาเป็นวัสดุรองพื้นคอก มีผลดีที่สุดเมื่อเทียบกับแกลบ เปลือกข้าวโพด เศษใบไม้กิ่งไม้ และรวมวัสดุ กากกาแฟ แกลบ และเศษข้าวโพด เนื่องจากกากกาแฟมีการดูดซับความชื้นได้ดี ย่อยสลายช้า ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาเติมวัสดุรองพื้นบ่อย เป็นการประหยัดเวลาในการเลี้ยงดูและประหยัดต้นทุนในการหาซื้อวัสดุสำหรับเติมในคอกหมูหลุม ทั้งนี้ทำให้เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงได้ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยคอก ช่วยลดมลภาวะทางกลิ่น เพิ่มรายได้จากการเลี้ยงหมู และประหยัดเวลาในการจัดการ

 

              สำหรับต้นทุนการเลี้ยงหมูหลุม แบ่งออกเป็นค่าสายพันธุ์หมูหย่านม น้ำหนัก 10-15 กิโลกรัม ตัวละ 1,500 บาท และค่าอาหารในการเลี้ยงเป็นระยะเวลา 4 เดือน 3,400-3,500 บาท รายได้จากการจำหน่ายหมู แบ่งออกเป็นการจำหน่ายเนื้อ โดยหมู 1 ตัวเมื่อเลี้ยงเป็นระยะเวลา 4 เดือน น้ำหนักจะอยู่ที่ 95-105 กิโลกรัม  ซึ่งจะขายได้เฉลี่ยตัวละ 7,000-7,500 บาท นอกจากรายได้จากการขายเนื้อหมูแล้ว ยังมีปุ๋ยคอกที่ได้จากการเลี้ยงแบบหลุม เฉลี่ยคอกละ 250 กิโลกรัม โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถนำไปเป็นปุ๋ยทางการเกษตร หรือบรรจุกระสอบขายในพื้นที่กระสอบละ 30 บาท เท่ากับการเลี้ยงหมูหลุม 1 คอก (หมู 3-4 ตัว) จะมีรายได้จากการขายปุ๋ยคอกประมาณ 2,500 บาท จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงหมูนอกจากจะได้เนื้อบริโภคในพื้นที่ ได้รายได้จากการขายเนื้อ ยังได้ปุ๋ยคอกจากการเลี้ยงอีกด้วย “หมูดำไม่ได้มีดีแค่เนื้อ” จริงๆ ครับ

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นายสุคีพ ไชยมณี และนางสาวนริศรา เกิดสุข

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง