เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ แนะนำสารจากธรรมชาติ “หญ้าหวาน”

เมื่อชีวิตขาดหวานไม่ได้ แนะนำสารจากธรรมชาติ “หญ้าหวาน”

 

 

            ความหวานเป็นรสชาติที่หลายคนขาดไม่ได้ ดังคำภาษิตที่ว่า “กินคาวไม่กินหวาน..สันดานไพร่” และความหวานก็เป็นตัวการที่คอยทำลายสุขภาพ วันนี้จึงขอแนะนำให้รู้จักกับสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า หญ้าหวาน หรือ Stevia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni M.  ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศบราซิลและปารากวัย เป็นไม้พุ่มเตี้ย ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย โดยในประเทศไทยนิยมปลูกในภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของหญ้าหวาน

            ใบหญ้าหวานจะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 10 – 20 เท่า ส่วนสารสกัดหญ้าหวานมีสารให้ความหวานชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Sativoside) ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล ถึง 200-300 เท่า ซึ่งเป็นความหวานที่ไม่มีแคลอรี่ และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เพราะเมื่อรับประทาน ร่างกายสามารถขับออกมาได้ทันทีไม่มีการสะสม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบำรุงตับอ่อน ลดไขมันในเส้นเลือด และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนได้ แถมยังช่วยสมานแผลทั้งภายนอกและภายใน ทำให้แผลหายไวขึ้น รวมทั้งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น นอกจากนี้สารสกัดจากหญ้าหวานยังไม่ทำให้ฟันผุ ช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก ทั้งมีความทนทานต่อกรดและความร้อน เมื่อใช้ผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ต้องผ่านความร้อนสูงจึงไม่กลายเป็นสีน้ำตาล จึงมีการนำไปใช้ในการลดความอ้วนกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะใช้ผสมดื่ม หรือผลิตเป็นอาหารเสริม

            องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2552 ว่า หญ้าหวานมีความปลอดภัย สามารถกินได้ และปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใดๆ และยังจัดอยู่ในหมวดพืชสมุนไพรอีกด้วย ในปัจจุบันหญ้าหวานถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ น้ำตาลหญ้าหวาน (สารสกัด) ใบหญ้าหวานอบแห้ง ใบหญ้าหวานแห้งบด (ชาชงหญ้าหวาน) ใบแห้งบด (หญ้าหวานผง) และใบหญ้าหวานสด โดยหญ้าหวานสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักแทนน้ำตาลในการปรุงอาหาร หรือการนำมาใช้ผสมเครื่องดื่มหรือทำอาหาร เช่น เบเกอรี่ แยม เยลลี่ ไอศครีม ลูกอม และน้ำอัดลม เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้อนุญาตให้ใช้หญ้าหวานเป็นวัตถุดิบสำหรับชาสมุนไพร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องกำหนดรายชื่อพืชหรือส่วนของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับชาสมุนไพร ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

 

             การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวหญ้าหวานนั้น หลังจากย้ายกล้าลงปลูกในแปลงได้ 30 - 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยหญ้าหวานสด 10 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งในตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ในวันที่แดดจัดๆ ใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง จะได้น้ำหนักแห้ง ประมาณ 1-1.5  กิโลกรัม โดยหญ้าหวานที่อบแห้งแล้วราคาอยู่ที่ 400 บาทต่อกิโลกรัม หญ้าหวานจัดเป็นพืชทนแล้งได้ดีอีกชนิดหนึ่ง จึงเป็นพืชทางเลือกที่ช่วยเสริมรายได้อีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับเพาะปลูกบนพื้นที่สูงที่มีอากาศค่อนข้างเย็น แต่มักมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ

 

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กรรณิกา ศรีลัย

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง