"มันเทศญี่ปุ่นหลังนา" ทางเลือกใหม่ คนเมืองน่าน

"มันเทศญี่ปุ่นหลังนา" ทางเลือกใหม่ คนเมืองน่าน

เขียน เรียบเรียงโดย นางสาวณัฐวรรณ  ธรรมสุวรรณ์ และ นายชวลิต  สุทธเขตต์

 

 

          ชุมชนในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวในพื้นที่นาและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ลาดชันเป็นหลัก ต่อมา สวพส. ได้ส่งเสริมพืชทางเลือกในระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล และการเลี้ยงหมูหลุม เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งยกระดับการใช้ประโยชน์พื้นที่หลังนาซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,438 ไร่ งานวิจัยร่วมกับเกษตรกรและนักพัฒนา ได้คัดเลือกชนิดพืชทางเลือกหลังนาเพิ่มจากที่มีการปลูกอยู่ในปัจจุบัน คือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ฟักแฟง มะระ และฟักทอง เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงปัจจัยของพื้นที่ ประกอบด้วย (1) ลักษณะดินในพื้นที่หลังนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายและดินร่วนปนตะกอน (2) พืชที่มีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 3-4 เดือน เนื่องจากต้องใช้ที่นาในการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไป (3) พืชใช้น้ำน้อยหรือพืชทนแล้ง เพราะเป็นการเพาะปลูกในช่วงกลางเดือนธันวาคม–กลางเดือนเมษายน (4) พืชที่ใช้แรงงานในการปฏิบัติดูแลรักษาไม่ถี่มาก เนื่องจากครัวเรือนมีกิจกรรมทางการเกษตรอื่น เช่น การปลูกพืชผักในและนอกโรงเรือน การเลี้ยงหมูหลุม (5) พืชที่ตลาดทั้งในชุมชนและจังหวัดน่านต้องการบริโภค และ (6) เป็นพืชที่มีองค์ความรู้อยู่แล้วในโครงการหลวง และ สวพส. ซึ่งนำไปสู่การคัดเลือกชนิดพืชร่วมกันคือมันเทศญี่ปุ่น   

         การวิจัยเชิงปฏิบัติการในการทดสอบเทคโนโลยีการปลูกมันเทศญี่ปุ่นหลังนาร่วมกับเกษตรกร จำนวน 20 ราย และผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกมันเทศจากกระทรวงเกษตร ประเทศญี่ปุ่น ได้สร้างชุดความรู้การปลูกมันเทศญี่ปุ่นหลังนาในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ดังนี้

ผลผลิตมันเทศญี่ปุ่นพันธุ์โครงการหลวงเนื้อสีเหลืองให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,243 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เนื้อสีม่วงที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,485 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ราคาจำหน่ายพันธุ์เนื้อสีม่วงในตลาดจังหวัดน่าน กิโลกรัมละ 25-35 บาท ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เนื้อสีเหลืองกิโลกรัมละ 20-25 บาท ทั้งนี้การปลูกด้วยยอดพันธุ์ทำให้มีจำนวนหัวเฉลี่ยต่อต้นสูงกว่าการปลูกด้วยท่อนพันธุ์ 100%
 

วิธีการจัดการด้วงงวงมันเทศซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชหลักของมันเทศญี่ปุ่น ด้วยวิธีการจัดการแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อทดแทนการรองก้นหลุมด้วยสารเคมี ประกอบด้วย การไถและตากดิน 2 ครั้ง ควรห่างกันไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์ การคลุมดินด้วยฟางข้าวเพื่อรักษาความชื้นในดินและช่วยคุมวัชพืช การใช้ยอดพันธุ์ที่ปลอดโรค การฉีดพ่นน้ำหมักก้านยาสูบที่โคนต้นช่วงอายุ 1.5-2 เดือนหลังปลูก โดยพ่นทุก 10-14 วันจนกระทั่งใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม

 

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือพันธุ์เนื้อสีเหลือง 90-100 วัน และพันธุ์เนื้อสีม่วง 110-120 วัน ซึ่งหากเก็บเกี่ยวมากกว่าระยะเวลานี้ด้วงงวงมันเทศจะเข้าทำลาย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนที่แมลงศัตรูพืชเจริญเติบโตได้ดี

 

ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตปริมาณน้ำตาลในมันเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 1 สัปดาห์ จึงควรนำไปจำหน่ายหลังระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้มีปริมาณน้ำตาลสะสมที่เพียงพอ สำหรับมันเทศญี่ปุ่นพันธุ์เนื้อสีม่วง ผลวิเคราะห์สาร Anthocyanin มีปริมาณ 1,054 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่พบในกะหล่ำปลีสีม่วง 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และแรดดิช 110 - 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 

 

         จากการร่วมปฏิบัติงานวิจัยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกมันเทศญี่ปุ่นหลังนาที่มีคุณภาพจำหน่ายทั้งในจังหวัดน่านและต่างพื้นที่ อีกทั้งได้สร้างผู้นำเกษตรกรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุนชนในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริมและสะเนียน เพื่อส่งเสริมการปลูกมันเทศญี่ปุ่นหลังนาเป็นทางเลือกที่มีคุณค่าของคนเมืองน่าน

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง