การปลูกองุ่น ทำไมต้องใช้ต้นตอ?

การเปลี่ยนยอดองุ่นพันธุ์ดีบนต้นตอ
“ทำไมการปลูกองุ่นต้องใช้ต้นพันธุ์องุ่นที่ได้จากการเปลี่ยนยอดหรือติดตาองุ่นพันธุ์ดีบนองุ่นพันธุ์ต้นตอ ปลูกโดยใช้วิธีการปักชำกิ่งพันธุ์ดี ไม่ได้หรือ!!”

เป็นคำถามที่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจในการปลูกองุ่นสอบถามมาโดยตลอด จึงต้องกล่าวย้อนไปถึงการปลูกองุ่นในทวีปยุโรปที่ปลูกเพียงชนิดเดียวคือ Vitis vinifera การขยายพันธุ์ทำได้ง่ายด้วยการปักชำ ซึ่งใช้วิธีนี้มานานนับพันปี จนกระทั่งหลังการค้นพบอเมริกา นักพฤกษศาสตร์ที่เข้าไปสำรวจพันธุ์ไม้ ได้นำพันธุ์องุ่นจากอเมริกากลับมาศึกษาและรวบรวมพันธุ์ไว้ในยุโรป แต่ได้นำเข้าแมลงจำพวกเพลี้ย Phylloxera (Daktulospharia vitifoliae) มาโดยบังเอิญอีกด้วย

 

Phylloxera

เข้าทำลายองุ่นที่ใบและราก ทำให้ต้นเสียหายและตายในที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไร่องุ่นในยุโรปถูกทำลายไปเกือบหมดในระยะเวลาไม่ถึง 40 ปี ในช่วงที่แมลง Phylloxera ระบาดอย่างรุนแรงคือช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสสังเกตว่ารากองุ่นที่นำมาจากอเมริกาบางพันธุ์ไม่ถูกทำลาย จึงแนะนำให้นำตาองุ่น V. vinifera มาติดบนต้นองุ่นที่รากต้านทานต่อแมลงนี้ ดังนั้นองุ่นที่ปลูกใหม่ในยุโรปและทั่วโลกจึงจำเป็นต้องใช้ต้นตอ

โชคดีของผู้ปลูกองุ่นในประเทศไทย

พันธุ์องุ่นที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นองุ่นชนิด V. vinifera เช่นองุ่นพันธุ์ White Malaga พันธุ์ Beauty Seedless พันธุ์ Flame Seedless พันธุ์ Marroo Seedless และพันธุ์ Perlette โชคดีของผู้ปลูกองุ่นในประเทศไทยที่ยังไม่พบการระบาดของ Phylloxera อย่างไรก็ตามพบการระบาดของไส้เดือนฝอยเข้าทำลายระบบรากองุ่น โดยจะฝังตัวและอาศัยอยู่ภายในราก ทำให้รากเป็นปม ซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตต่ำ การเจริญเติบโตลดลง ต้นองุ่นจะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ และตายในที่สุด ดังนั้นเมื่อประมาณ 50 ปีกว่าที่แล้ว ศ.ปวิณ ปุณศรี จึงได้นำเข้าต้นตอองุ่นพันธุ์ Solonis x Othello 1613 (1613C) จากอเมริกา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อไส้เดือนฝอย และเป็นต้นตอที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบัน

 

 
ลักษณะของใบและรากองุ่นที่ถูก Phylloxera เข้าทำลาย

 
ลักษณะของรากองุ่นที่ถูกไส้เดือนฝอยเข้าทำลาย
 

ชนิดและพันธุ์ของต้นตอองุ่น

ต้นตอจะช่วยให้องุ่นมีระบบรากที่แข็งแรง ต้านทานต่อปัจจัยต่างๆ ในดิน ทั้งที่มีสาเหตุมาจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น โรค Pierce’s Disease (โรคกิ่งและเถาแห้ง) โรค Crown Gall (โรคโคนต้นเป็นปม) Phylloxera และไส้เดือนฝอย สภาพดินที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินแห้งแล้ง ดินแฉะ ดินเค็มและดินที่มีระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการใช้ต้นตอสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นองุ่นพันธุ์ดีและคุณภาพของผลผลิต อย่างไรก็ตามการเลือกพันธุ์ต้นตอองุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือปัญหาของพื้นที่นั้นจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของต้นตอองุ่นพันธุ์นั้นๆ ด้วย

 

ตารางแสดงลูกผสม/ชนิด ชื่อพันธุ์ และคุณสมบัติของต้นตอองุ่นพันธุ์ต่าง ๆ

กลุ่มลูกผสม/ชนิด ชื่อพันธุ์ คุณสมบัติของต้นตอองุ่น
V. riparia × V. rupestris

Schwarzmann

เจริญเติบโตปานกลาง ต้านทานแมลงในดิน ต้านทานไส้เดือนฝอยได้ดี ออกรากง่าย ชอบดินที่ชุ่มน้ำ ไม่ทนแล้งแต่ทนดินเค็ม

V. berlandieri × V. rupestris

110 Richter (110R)

เจริญเติบโตดี ต้านทานไส้เดือนฝอยได้น้อยถึงปานกลาง ทนแล้ง ทนดินด่าง และทำให้ผลสุกช้า

140 Ruggeri (140Ru)

เจริญเติบโตดี ต้านทานไส้เดือนฝอยได้ปานกลาง ทนแล้ง ทนดินด่างและทนดินเค็ม

1103 Paulsen (1103P)

เจริญเติบโตดี ทนดินด่าง ทนดินเค็มและทำให้ผลสุกช้า

V. berlandieri × V. rupestris

5 BB Selection Kober (5 BB)

เจริญเติบโตปานกลาง มีระบบรากตื้น ทนดินด่าง แต่ไม่ทนแล้ง ดินเค็ม และต้านทานไส้เดือนฝอยได้ปานกลาง

5 C Teleki (5 C)

ทนดินปูน ต้านทานต่อไส้เดือนและแมลงในดินได้ดี

Selection Oppenheim No. 4 (SO 4)

ระบบรากตื้น ทนดินกรดและดินด่าง แต่ไม่ทนแล้ง ต้านทานไส้เดือนฝอยและแมลงในดินได้ดี

8B

ทนความแห้งแล้ง ต้านทานไส้เดือนฝอยได้ดี

V. champini

Ramsey (Salt Creek)

เจริญเติบโตดี ทนดินกรดอ่อนและดินด่าง ทนแล้ง ทนดินเค็ม และต้านทานไส้เดือนฝอยได้ดีมาก

V. longii × ((V. labrusca × V. riparia) × V. vinifera)

Solonis x Othello 1613 (1613C)

เจริญเติบโตปานกลาง ต้านทานไส้เดือนฝอยได้ดี ทนดินชื้นแฉะ และไม่ทนดินด่าง

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวจิระนิล แจ่มเกิด

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง