ใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันโรคเหี่ยวเขียวของพริกอย่างไรให้ได้ผล

พริก

พริก เป็นพืชในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chili pepper หรือ chili ถือเป็นผักและสมุนไพรที่มีความสำคัญสำหรับคนไทยทั้งการบริโภคสดและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2561) รายงานปริมาณการส่งออกพริกแห้งที่มีมูลค่าสูงถึง 535,191,367.00 บาท อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังพบปัญหาการเข้าทำลายของศัตรูพืชระหว่างการปลูกพริกโดยเฉพาะโรคเหี่ยวเขียวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum

สายใยเพชฌฆาต

สายใยเพชฌฆาต หากเกษตรกรเห็นของเหลวสีขาวขุ่นไหลเป็นสายออกมาจากรอยตัดของลำต้นพริกที่จุ่มลงน้ำในแก้ว นั่นหมายถึงต้นพริกเป็น “โรคเหี่ยวเขียว” ความน่ากลัวของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคนี้คือ “อยู่ในดินได้นานหลายปี ทำลายพืชหลายชนิด เช่น พริก มะเขือ มันฝรั่ง แตง กล้วย ฝรั่ง ทุกระยะการเจริญเติบโต แพร่ระบาดไปกับเครื่องมือการเกษตร ลม น้ำ และคน โดยเฉพาะช่วงต้นพืชอ่อนแอ อากาศร้อนและมีความชื้นในดินสูง เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะเพิ่มความปริมาณอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชแสดงอาการใบเหี่ยวและยืนต้นตาย ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีสารเคมี/สารชีวภาพที่รักษาโรคนี้ได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

ความมหัศจรรย์ของสารชีวภัณฑ์

ความมหัศจรรย์ของสารชีวภัณฑ์ มิตรที่ดีต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม... เป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้สารเคมีที่มากเกินความจำเป็นก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคน รวมทั้งการสะสมของสารพิษในดินและน้ำ ด้วยเหตุนี้สารชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และมีความปลอดภัยจึงกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว สิ่งที่เกษตรกรต้องคำนึงก่อนการใช้สารชีวภัณฑ์ คือ “การสร้างที่อยู่ให้เชื้อจุลินทรีย์ในสารชีวภัณฑ์เจริญเติบโตและแสดงฤทธิ์ป้องกันเชื้อโรคเหี่ยวเขียว” สรุปขั้นตอนสำคัญที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

 

ปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพเป็นกรดอ่อน ร่วนซุย และมีความชื้นเล็กน้อย รวมถึงใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุมก่อนย้ายปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ในสารชีวภัณฑ์และช่วยให้ดินระบายน้ำดียิ่งขึ้น

 

เลือกแหล่งผลิตสารชีวภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ พีพี-บี10 จากผลงานวิจัยร่วมระหว่างสถาบันวิจัยและวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิโครงการหลวง

 

ใช้สารชีวภัณฑ์ที่ผลิตใหม่ๆ หรือหลังจากผลิตไม่เกิน 6 เดือน จะมีประสิทธิภาพดีกว่าที่ผลิตไว้นานแล้ว โดยเกษตรกรสามารถใช้ได้หลายวิธี เช่น

  1. ผสมผงชีวภัณฑ์ พีพี-บี10 ในวัสดุเพาะกล้า อัตรา 1:10
  2. ชุบต้นกล้าพืชในสารละลายผงชีวภัณฑ์ พีพี-บี10 อัตรา 1:5 ก่อนย้ายปลูก
  3. โรยผงชีวภัณฑ์ พีพี-บี10 จำนวน 1 ช้อนชา (1 กรัม) บนปุ๋ยอินทรีย์ที่ใส่รองก้นหลุมก่อนย้ายปลูกต้นพืช และโรยซ้ำบนดินที่ชื้นบริเวณรอบโคนต้น หลังย้ายปลูก 7 วัน และระยะเริ่มติดดอกอีก 1-2 ครั้ง
 
 

ห้ามให้ดินอยู่ในสภาพชุ่มน้ำนานกว่า 1 วัน หลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องเด็ดขาด เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เชื้อสาเหตุโรคเจริญเติบโตและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

 

หากพบโรคในแปลงปลูก ให้รีบถอนต้นที่แสดงอาการเหี่ยวใส่ถุงและนำไปเผาทำลาย รวมทั้งโรยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 1:1 ลงในดินที่ชื้นบริเวณที่พบโรค

 

ความจริงที่ต้องเปิดเผย

ความจริงที่ต้องเปิดเผย บ่อยครั้งที่เกษตรกรมักจะบ่นว่าใช้สารชีวภัณฑ์ไม่ได้ผล ที่เป็นเช่นนั้นมีสาเหตุหลักเกิดจากความไม่เข้าใจในกลไกการออกฤทธิ์กำจัดเชื้อสาเหตุโรค ตัวอย่างประกอบการอธิบายง่ายๆ คือ การเปรียบเทียบเชื้อจุลินทรีย์ในสารชีวภัณฑ์เป็นนักรบที่เก่งกาจ ออกรบกับข้าศึกในสนามอย่างดุเดือด แต่หากไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่พัก ไม่มีอาหารกิน และไม่มีกองกำลังเสริม นักรบก็จะหมดแรงอย่างรวดเร็ว ลดจำนวนลง และพ่ายแพ้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องปรับปรุงดินเพื่อสร้างที่อยู่สำหรับให้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งถูกคัดเลือกมาอย่างดีใช้เป็นป้อมปราการ และเปลี่ยนวิธีการใช้สารชีวภัณฑ์ให้ถูกต้อง

 

 

ผลงานวิจัยบนพื้นที่สูงกว่า 4 ปี ...ผลิตภัณฑ์ พีพี-บี10

ผลงานวิจัยบนพื้นที่สูงกว่า 4 ปี ...ผลิตภัณฑ์ พีพี-บี10 ป้องกันโรคเหี่ยวเขียว สำหรับเกษตรกรโครงการหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และโครงการพระราชดำริ โดยผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักจากเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสสายพันธุ์ดีที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวเขียว ผ่านกรรมวิธีทดสอบประสิทธิภาพทั้งในห้องปฏิบัติการ โรงเรือนทดสอบ และแปลงปลูกพืช “เกษตรกรที่ใช้ผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดจะลดโอกาสการเกิดโรคสูงถึง 80% เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ได้ใช้” หากใช้อย่างต่อเนื่องต้นพริกจะแข็งแรงขึ้น ใบเขียว และต้นโทรมช้าลง ทำให้เก็บผลผลิตได้นานมากกว่า 4 เดือน

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.สุมาลี เม่นสิน และคณะ

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง