โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงเพื่อให้คนอยู่อาศัยร่วมกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวง
เพื่อให้คนอยู่อาศัยร่วมกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

โครงการหลวงได้พัฒนาชุมชนชาวเขาในพื้นที่สูงต่างๆ ของพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวม 38 แห่ง โดยอาศัยองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดไปยังประชากรชาวเขาในกลุ่มเป้าหมาย ในการประกอบอาชีพการปลูกพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ ทำให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าลดลง ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่สูงอื่นๆ ของประเทศ รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนานาประเทศ อย่างไรก็ตามพบว่าในปัจจุบันโครงสร้างของครอบครัวและชุมชนบนพื้นที่สูงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม เนื่องจากสังคมบนพื้นที่สูงเปิดสู่โลกภายนอกมากขึ้น มีการอพยพแรงงานไปสู่เมือง ทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรอย่างเข้มข้นโดยขาดมาตรการอนุรักษ์และน้ำที่ดีพอและทั่วถึง ทรัพยากรป่าไม้ได้รับแรงกดดันจากการบุกรุกทำลายเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ทั้งจากชุมชนและบุคคลภายนอก ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง เกิดการสูญเสียความสมดุลของระบบนิเวศ และ เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่โครงการหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้เริ่ม โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงเพื่อให้คนอยู่อาศัยร่วมกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาและตอบโจทย์เรื่องปัญหาทรัพยากรป่าไม้ โดยนำแนวคิดการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาที่มีความเหมาะสมกับแต่ละบริบทของภูมิสังคมบนพื้นที่สูงในระดับชุมชนมาใช้เป็นหลักของการพัฒนา เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง ทั้งนี้จากผลการสำรวจพื้นที่เพื่อคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงานนำร่องของโครงการวิจัย ได้แบ่งบริบทของภูมิสังคมบนพื้นที่สูงเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ

1. ชุมชนที่อาศัยการทำนาเป็นหลัก ซึ่งครอบคลุมทั้งชุมชนที่ทำนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง และชุมชนที่ทำนาบนพื้นที่ราบ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบการผลิตข้าวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมบนพื้นที่สูง และเพื่อให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นที่ดี โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

2. ชุมชนป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยการทำเมี่ยงสำหรับจำหน่ายแก่คนไทยในภาคเหนือ แต่ในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากความนิยมในการบริโภคเมี่ยงที่ลดลง ทำให้ชุมชนป่าเมี่ยงมีรายได้จากการขายเมี่ยงที่น้อยลงตามไปด้วย รวมทั้งอาจได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในการประกอบอาชีพที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพและลักษณะภูมิสังคมของพื้นที่ โดยส่วนใหญ่พื้นที่ที่มีสภาพภูมิสังคมแบบป่าเมี่ยงมักมีสภาพทรัพยากรป่าไม้ที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาและพัฒนากระบวนการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ

3. ชุมชนที่มีพื้นฐานจากการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งในปัจจุบันหันมาปลูกพืชผัก ทำไร่ข้าวโพด และปลูกไม้ผล เป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งสู่ตลาด ทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่เพี่อการเกษตรอย่างเข้มข้น จำเป็นที่ต้องศึกษาและพัฒนากระบวนการในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน

ส่วนรูปแบบการยังชีพด้วยการเก็บหาของป่าหรือเลี้ยงสัตว์นั้นสามารถพบสอดแทรกอยู่ในภูมิสังคมทั้ง 3 รูปแบบข้างต้นโดยไม่สามารถแยกออกเป็นหนึ่งรูปแบบภูมิสังคมที่ชัดเจนได้ ดังนั้น ในการดำเนินงานของโครงการวิจัยจึงยึดถือแนวทางการจัดการที่เหมาะสมสำหรับภูมิสังคม 3 รูปแบบข้างต้นเป็นหลัก

ทั้งนี้การพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงอาศัยหลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และถอดบทเรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงศึกษาและพัฒนาที่สามารถนำไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในชุมชนพื้นที่สูงอื่นๆ ต่อไป โดยมีหลักการการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

1. เป้าหมายรวมของการดำเนินงานเป็นไปตามหลักการดำเนินงานของโครงการหลวง ตามแนวพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อ พ.ศ.2517 โดยอาศัยการสังเคราะห์องค์ความรู้ทางวิชาการที่เหมาะสม

2. อาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิธีการที่ทำให้การดำรงชีวิตของคนและชุมชนมีความพอเหมาะพอสมกับธรรมชาติบนพื้นที่สูง สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ โดยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างชุมชนที่มีความน่าอยู่และมีความสุข (Homeland) ในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ

3. อาศัยแนวพระราชดำริโครงการธนาคารอาหารชุมชน (Food bank) เพื่อให้ชุมชนได้มีโอกาสฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น โดยเฉพาะเพื่อเป็นปัจจัยต่อการดำรงชีวิตและปัจจัยกายภาพของระบบเกษตรต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดระบบการหมุนเวียนของธาตุอาหาร (Nutrient cycle) ในระดับชุมชน และกระบวนการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยพื้นที่โครงการหลวงถือว่ามีความพร้อมอยู่มากในด้านกระบวนการขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต เกิดกระบวนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนให้เกิดความเจริญอย่างสมดุลของระบบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์โครงการ

เพื่อศึกษาและพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงที่คนสามารถอยู่อาศัยร่วมกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนภายใต้ 3 สภาพภูมิสังคม ได้แก่ ชุมชนป่าเมี่ยง ชุมชนที่อาศัยการทำนาเป็นหลัก และ ชุมชนที่มีฐานจากการปลูกฝิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย ประกอบด้วย

1) เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชน สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) เพื่อศึกษาและทดสอบกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงที่มีความสอดคล้องกับแต่ละรูปแบบภูมิสังคม โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

3) เพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงที่มีความสมดุลและยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

4) เพื่อสรุปบทเรียนและถอดรูปแบบการพัฒนาชุมชนต้นแบบโครงการหลวงเพื่อให้คนอยู่อาศัยร่วมกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลยั่งยืนของชุมชนในแต่ละภูมิสังคม

พื้นที่เป้าหมาย

พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 5 แห่ง และพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง 1 แห่ง ภายใต้สภาพภูมิสังคม 3 รูปแบบ ได้แก่

1) ชุมชนที่อาศัยการทำนาเป็นหลัก ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน (การทำนาขั้นบันไดตามไหล่เขา) รวมทั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงและห้วยเสี้ยว (การทำนาในพื้นที่ราบ)

2) ชุมชนป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นชุมชนไทยภาคเหนือที่อาศัยการทำเมี่ยงสำหรับจำหน่ายแก่คนไทยเหนือ ปัจจุบันมีปัญหาจากความนิยมในการบริโภคเมี่ยงน้อยลง ทำให้มีรายได้จากการขายเมี่ยงน้อยลงตามไปด้วย และอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดการปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง และโครงการขยายผลโครงการหลวงปางมะโอ จ.เชียงใหม่

3) ชุมชนที่มีพื้นฐานจากการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งปัจจุบันหันมาปลูกพืชผัก ทำไร่ข้าวโพด และปลูกไม้ผล เพื่อส่งสู่ตลาด ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จ.เชียงใหม่

ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 3

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง