“ฌ่ายไน่” แบรนด์ชุมชน บนโลกออนไลน์

 “ฌ่ายไน่”  เป็นแบรนด์ของสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัดตั้งอยู่ที่ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 
แบรนด์ “ฌ่ายไน่”  ใช้การออกแบบที่สื่อถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเล่าเรื่อง แบรนด์ผ่านรูปชายหญิงที่แต่งกายด้วยชุดชนเผ่ากะเหรี่ยงที่มีเอกลักษณ์ สะพายตะกร้าที่ทำจากวัสดุท้องถิ่น เช่น ไผ่ หวาย นำมาสานเป็นตะกร้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชนเผ่าใช้สำหรับเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคำว่า “ฌ่ายไน่” เป็นภาษาท้องถิ่นของกระเหรี่ยงโปว์ โดยคำว่า “ฌ่าย” แปลว่า สะพาย  และ “ไน่” แปลว่า ตะกร้า

การนำแบรนด์ “ฌ่ายไน่” มาอยู่บนโลกออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและทดสอบการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง  โดยมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ห่างไกล การเดินทางลำบาก ผลการทดสอบพบว่า พื้นที่ห่างไกล การเดินทางลำบาก และเกษตรกรเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตและการขนส่งที่เข้าถึง รวมทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ที่พร้อมปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี โดยเริ่มทดสอบจำหน่ายผัก ผลไม้ ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านการสื่อสารเรื่องราวที่มีเอกลักษณ์ไปยังผู้บริโภค

เสริม 5 เคล็ดลับ สร้างแบรนด์ชุมชนให้โดดเด่น

แบรนด์คือของดีประจำชุมชน เมื่อได้ของดีแล้วก็ต้องสร้างตัวตนที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ของเราผ่านกระบวนการสร้างแบรนด์ (Branding)

1. การสร้างแบรนด์ (Branding)ของชุมชน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสินค้าให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งชุมชนที่ต้องการขายผลิตภัณฑ์จะต้องนึกถึงการสร้างแบรนด์มาเป็นอันดับแรก เพื่อให้เป็นภาพจำที่เกิดประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น การสร้างแบรนด์นอกจากจะสร้างการจดจำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านการสื่อสารให้กับชุมชน เป็นการสร้างชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และกลายเป็นทุนเชิงสัญลักษณ์กับทุนเชิงวัฒนธรรมให้ผู้บริโภคเป็นอย่างแรก การสร้างแบรนด์มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ 4 ส่วน คือ (1) แตกต่างไม่ซ้ำใคร (2) มีเป้าหมายชัดเจนในการสื่อสารว่าอยากให้ลูกค้ารู้จักแบบไหน (3) สามารถสื่อสารได้ว่าแบรนด์ของเราทำอะไรได้ และ (4) ง่ายต่อการจดจำ

2. การสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) คือการออกแบบลักษณะเฉพาะให้แบรนด์ เพื่อนำเสนอความเป็นตัวตนของแบรนด์ลักษณะสำคัญของ Identity คือ การสร้างสัญลักษณ์อะไรก็ตามที่สร้างสัมผัสแรกผ่านการมองเห็น ดังนั้นการสร้างอัตลักษณ์จึงมักอยู่ในรูปของ ชื่อแบรนด์ โลโก้  สี สโลแกน ซึ่งทั้งหมดที่ถูกออกแบบจะต้องย้อนกลับมาสร้างคุณค่าให้แบรนด์  และส่งต่อคุณค่านั้นสู่ลูกค้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะนำมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างการจดจำและเพิ่มความโดดเด่นเฉพาะ ให้กับอัตลักษณ์ที่มีอยู่ในชุมชน จนเกิดเป็นมูลค่า และสร้างผลตอบแทนให้กับชุมชนและสังคมได้

3. การเล่าเรื่อง (Storytelling) ด้วยเสน่ห์ของชุมชนท้องถิ่น เป็นการแบ่งปันเรื่องราวเบื้องหลังของแบรนด์ ทำไมถึงมีแบรนด์ และสิ่งที่แบรนด์ทำได้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ซึ่งการที่สามารถแบ่งปันเรื่องราว จะทำให้แบรนด์มีความน่าสนใจมากขึ้น และเชื่อมต่อกับผู้คน สร้างความไว้วางใจ โดยเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าออกไป จะส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าให้แก่แบรนด์

4. บรรจุภัณฑ์สินค้า (Packaging) จะต้องมีความแข็งแรง ทนทาน รูปทรงสวยงาม รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องมีรูปภาพที่โดดเด่นสมดุลกับหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ มีสีสันสวยงามใช้คู่สี (Pantone) ซึ่งการออกแบบต้องคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งาน (User Friendly) และมีความเป็นมาตรฐานสากลด้วย

5. เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ โดยการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อเป็นการปกป้องการปลอมแปลง การเลียนแบบ และแสดงให้เห็นว่าแบรนด์แตกต่างไม่ซ้ำใคร โดยสามารถใช้บังคับทางกฎหมายได้

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
สายทอง อินชัย และ หัทยา พัฒนะพงศ์พันธุ์
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ที่มา : สสส. http://www.artculture4health.com/Contents/view/1876

ที่มา : Steps Adademy : https://stepstraining.co/content/7-formula-storytelling

ที่มา : marketingoops : https://www.marketingoops.com/

ที่มา : “สร้างแบรนด์ชุมชน เสริมแกร่งให้เศรษฐกิจฐานราก” โดย กองนโยบายการสร้างความเข้มแข็งทางการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง