ธาตุอาหารจากปุ๋ยคอก

หลายคนคงสงสัยว่าใน ‘ปุ๋ยคอก’ หรือ ‘มูลสัตว์’ แต่ละประเภทมีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชอยู่มากหรือน้อยแค่ไหน? นักวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้เคยสุ่มเก็บตัวอย่างมูลสัตว์แต่ละประเภทเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหาร พบว่า ขี้ค้างคาว มีปริมาณไนโตรเจนสูงที่สุด คือ 9.85% ส่วนขี้หมูจะให้ปริมาณฟอสฟอรัสมากที่สุด คือ 8.50% และขี้แพะจะมีปริมาณโปแตสเซียมมากที่สุด คือ 4.17% ดังตาราง 

ทั้งนี้เราสามารถเลือกมูลสัตว์จากในท้องถิ่นมาเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักร่วมกับเศษพืชได้ (ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ห้ามใช้ขี้ไก่กรงตับ!!!) ซึ่งก็จะทำให้ได้ปริมาณปุ๋ยมากขึ้นและประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกันเมื่อมีส่วนผสมหลายชนิดก็จะทำให้สัดส่วนธาตุอาหารเปลี่ยนไปด้วย  นอกจากนี้หากเราปลูก ‘พืชปุ๋ยสด’ หรือ ‘พืชตระกูลถั่ว’ สลับบ้างในบางช่วง ก็จะช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ดีขึ้นด้วย

สูตรหรือส่วนประกอบของปุ๋ยหมักก็ไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับวัสดุที่เรามี โดยทั่วไปใช้เศษพืช 4 ส่วน และ
มูลสัตว์ 1 ส่วน (4:1) หากมีเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 (เกษตรกรสามารถขอรับการสนับสนุนเชื้อ พด.1 จากกรมพัฒนาที่ดินได้ฟรี!) ก็นำมาใช้ร่วมกันได้ (ละลายสารเร่ง พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร สัก 15  นาที แล้วรดไปบนกองปุ๋ยหมัก) สำหรับวิธีการทำ จะกองเศษพืชสลับกับมูลสัตว์เป็นชั้นๆ ซึ่งมีงานวิจัยบางชิ้น รายงานว่า ถ้าทำเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซ็นติเมตร จุลินทรีย์จะทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว 

ประเด็นสำคัญ

  1. 1. ต้องควบคุมความชื้นให้ดี อย่าให้กองปุ๋ยหมักแห้ง ดังนั้นต้องรดน้ำทุกวัน
  2. 2. ถ้าทำถูกวิธีกองปุ๋ยจะเกิดการหมัก ทำให้มีอุณหภูมิสูง (ร้อน) ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาหมัก 2-3 เดือน เมื่อหมักสมบูรณ์แล้วจะเย็นลง
  3. 3. ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ จะไม่มีกลิ่นเหม็น ในกรณีที่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุนแสดงว่ากระบวนการย่อยสลายภายในกองปุ๋ยยังไม่สมบูรณ์ 

ผู้ตรวจรับรอง (auditor) บางคน โดยเฉพาะผู้ตรวจรับรองจากต่างประเทศ จะให้ความสำคัญกับระยะเวลาการหมักปุ๋ยหมักมากกกก ซึ่งต้องใช้เวลาหมักมากกว่า 45 วัน ถึงจะยอมรับ  นั่นเป็นเพราะหากการหมักเกิดไม่สมบูรณ์ เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดจะไม่ตาย โดยเฉพาะเชื้อที่ติดมากับมูลสัตว์และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องร่วง/ท้องเสีย เชื้อจุลินทรีย์ที่ว่าก็จะติดไปกับพืชผักที่ปลูกได้ คนกินก็จะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นในการทำเกษตรปลอดภัย (GAP และอินทรีย์) ควรทำควบคู่กันไประหว่างการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพราะทั้งสองอย่างจะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ผลิตผลพืชที่ขายไม่หมดหรือเศษพืชก็ใช้เลี้ยงสัตว์ ส่วนมูลสัตว์ก็เอามาทำปุ๋ยได้ 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.เพชรดา อยู่สุข นางสาวนิตยา โนคำ และนายณัฐพล กามล

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง