การขอรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์

การขอรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์

ในครั้งก่อนผู้เขียน ได้เขียนเกี่ยวกับหลักการจัดการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ โดยมีหลักการสำคัญๆประมาณ 10 ข้อด้วยกัน โดยสรุปหลักการสำคัญของการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ คือการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลกัน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ เน้นการจัดการเลี้ยงสัตว์ให้อยู่สุขสบายตามธรรมชาติและพฤติกรรมของสัตว์ พันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์มาจากธรรมชาติ การจัดการป้องกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค มีการพึ่งพาตนเอง โดยการใช้ปัจจัยการผลิตภายในฟาร์มให้มาก ตลอดจนมีบันทึกการทำกิจกรรมภายในฟาร์มเพื่อการขอรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์เป็นกรอบนำในการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในผลผลิตหรือสินค้า

นอกจากต้องปฏิบัติตามหลักการของปศุสัตว์อินทรีย์แล้ว การวางผังฟาร์มหรือการวางองค์ประกอบของฟาร์มที่ถูกต้องก่อนดำเนินการเลี้ยงก็มีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้การเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ประสบความสำเร็จสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ รวมทั้งเพื่อให้สามารถขอรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์จากกรมปศุสัตว์ได้อีกด้วย

สำหรับการขอรับรองปศุสัตว์อินทรีย์เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมหลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นขอตรวจประเมิน ได้แก่

  1. 1.เอกสารแสดงสิทธิ์พื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  2. เอกสารรับรองพื้นที่อินทรีย์และชนิดพืชที่ได้รับรองในแปลงอินทรีย์
  3. 3.พิกัดฟาร์ม
  4. 4.แผนผังฟาร์ม/โรงเรือน
  5. 5.ผลการตรวจวิเคราะห์ดิน/น้ำ
  6. 6.เอกสารการบันทึกข้อมูล เช่น แหล่งนำเข้าสัตว์/อาหารสัตว์/พืชอาหารสัตว์ที่ใช้ภายในฟาร์ม
  7. รายชื่อสถานจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์

ทั้งนี้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ยื่นขอรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ สามารถดำเนินการยื่นแบบคำร้องขอรับรองปศุสัตว์อินทรีย์ ณ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เพื่อดำเนินขั้นตอนการตรวจรับรองฟาร์มต่อไป

จากการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมา มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และไก่เนื้ออินทรีย์ จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง  จ.เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาดูงานจากพื้นที่ หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มงานปศุสัตว์และประมง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ได้อีกด้วย

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นายสุคีพ ไชยมณีและนางสาวนริศรา เกิดสุข

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง