การคุ้มครองสมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพรและถิ่นกำเนิด บ้านป่าเกี๊ยะ ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ หมู่ที่ 18 ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ประกอบด้วยชนเผ่าอาข่าและชนเผ่าลาหู่  ได้ยื่นหนังสือขอให้ประกาศพื้นที่ป่าชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพรและถิ่นกำเนิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ถึง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 และคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรฯ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โดยชุมชนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจำนวน 435,120 บาท สำหรับดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน ครอบคลุม 3 แผนงาน 8 มาตรการ เพื่อดำเนินกิจกรรม เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์สมุนไพรและถิ่นกำเนิดและบทบาทหน้าที่ จัดทำระเบียบการใช้สมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ จัดการประชุมและประชาคมหมู่บ้านในเขตชุมชนพื้นที่หรือหมู่บ้านที่มีเขตติดต่อกับพื้นที่เขตอนุรักษ์ จัดทำป้ายสัญลักษณ์บอกขอบเขตพื้นที่ จัดทำป้ายแผนที่แสดงขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์/กฎระเบียบหรือเงื่อนไขการอนุญาตให้บุคคลเข้าใช้พื้นที่เขตอนุรักษ์ จัดกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกด้านสมุนไพร จัดทำเส้นทางเดินสำรวจสมุนไพรเชิงอนุรักษ์และป้ายองค์ความรู้พืชสมุนไพร ปลูกพื้นฟูและขยายพันธุ์สมุนไพร จัดตั้งจุดเรียนรู้ จัดทำสื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของพืชสมุนไพร

การคุ้มครองสมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพรและถิ่นกำเนิด ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 215 ไร่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ มีเนื้อที่ 2,250 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาว(ฝั่งซ้าย) และจัดเป็นป่าอนุรักษ์ โซน C ปกคลุมด้วยป่าไม้ 2 ชนิด คือ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ระดับความสูงตั้งแต่ 500-800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่มีพืชสมุนไพรท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมากและยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณชนิดต่างๆ เป็นอย่างดี

ค่าดัชนีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ โดยใช้สมการ Shannon-Wiener Index (SWI) พบว่า ป่าเต็งรัง มีค่าผันแปรระหว่าง 3.25-4.06  ซึ่งมีค่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับป่าเต็งรังบริเวณอื่น และป่าดิบแล้ง มีค่าผันแปรระหว่าง 3.80-4.43 ซึ่งมีค่าสูงกว่าป่าเต็งรังเล็กน้อย พบสมุนไพรกว่า 162 ชนิด อาทิเช่น ว่านหอมแดง จักค้านพุ่ม เครืองูเห่า ไพลดำ จี๋กุ๊ก กำบิด เป็นต้น ชาวบ้านในชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะมีวิถีในการพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในการรักษาอาการเจ็บปวดเบื้องต้น เช่น อาการปวดหัว เป็นไข้ ปวดเมื่อย กระดูกหัก และยังคงมีความเชื่อมั่นในการรักษาโดยวิธีของหมอพื้นบ้าน

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวอัปสร วิทยประภารัตน์

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง