โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ชุมชนนี้ ไม่มีเผา

ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนช่วงฤดูแล้งของทุกปี ไม่เพียงส่งผลกระทบสุขภาพประชาชนในทุกพื้นที่ที่หมอกควันปกคลุมถึง แต่การเผาป่ายังทำให้หน้าดินในพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซากขาดความสมบูรณ์และพังทลาย มีผลต่อการปลูกพืชแทบทุกชนิดในอนาคต ซึ่ง จ.น่าน เป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกชี้เป้าเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก และเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาหมอกควัน 1 ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ชาวไร่ข้าวโพดจะพร้อมใจเผาซังข้าวโพดและเศษวัชพืชอื่นๆ เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพดครั้งต่อไป การเผาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกินบริเวณกว้างทั่วทั้งจังหวัด ทำให้หมอกควันแผ่ขยายปกคลุม จ.น่าน ซึ่งแค่ช่วงระยะเวลาเดือนมีนาคม มีผู้ป่วยด้วยโรคปอด ทางเดินหายใจ และภูมิแพ้ ทยอยเข้าโรงพยาบาลน่านกว่า 8,000 ราย เฉลี่ยวันละ 300 ราย

ชุมชน ต.แม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน กลับมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งแทบจะไม่มีการเผาเลย ไม่ว่าจะเผาวัชพืชหรือเผาป่าก็ตาม ด้วยการร่วมมือของชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ บวกกับความตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมา หนึ่งในหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือเน้นเรื่องการไม่เผาคือ โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งแต่เข้าดำเนินการครอบคลุม 3 หมู่บ้านในเขตตำบลแม่จริม แต่ปัจจุบันได้ขยายดูแลเกษตรกรทั้ง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาหมัน บ้านตอง บ้านตองเจริญราษฎร์ บ้านบอน บ้านฝาย และบ้านก้อ มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 2,322 คน ลักษณะภูมิประเทศเป็นเชิงเขาสลับกับที่ราบเชิงเขา มีสูงความจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรร

การดำเนินงานของโครงการฯ เน้นการส่งเสริมเกษตรกรด้านการเกษตร อาชีพ ชุมชน มีแปลงสาธิตและจุดเรียนรู้ภายในศูนย์ ทั้งยังพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น แปลงผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงสัตว์ในชุมชนเพื่อง่ายแก่การศึกษาเรียนรู้กันระหว่างบ้านใกล้เคียง มีโครงการจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่ เช่น โครงการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและจัดการธาตุอาหารพืช โครงการทดสอบและสาธิตเทคโนโลยีการปลูกไม้ผล โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการแปรรูปหวายในระดับชุมชน เป็นต้น

หนึ่งในภารกิจของโครงการฯคือการรณรงค์ให้ชุมชนที่นี่ลดการเผา ผ่านการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วเหลืองหลังนา โดยไม่ไถพรวน ไม่เผาฟาง ซึ่งมีการทดลองให้เห็นว่าการเผากับไม่เผานั้นให้ผลต่างกันอย่างไร จากการปลูกถั่วเหลืองแบบไม่เผาให้ผลผลิตที่ดีกว่ามากและชาวบ้านเข้าใจ จึงปฏิบัติตาม มีการอบรมเรื่องการดูแล การเก็บเกี่ยว พาชาวบ้านไปศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นและนำมาปรับใช้ มีการให้ความรู้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรถั่วเหลือง เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางและมีระบบจัดการที่ดี โครงการยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตร ซึ่งปัจจุบันในเขตอำเภอแม่จริมมีพื้นที่การปลูกถั่วเหลืองหลังนากว่า 1,500 ไร่ และเพิ่มเป็น 2,000 ไร่ ในปี 2559 ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

หนึ่งในผู้ปลูกข้าวโพด ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ชาวไร่ข้าวโพดไร้องค์ความรู้การทำเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทำปุ๋ยหมักหรือปลูกพืชตระกูลถั่วเหลื่อมข้าวโพด ทำให้แต่ละปีทุกคนมุ่งมั่นในการปลูกข้าวโพดเป็นพืชไร่เชิงเดี่ยว เมื่อถึงเวลาปรับพื้นที่เตรียมการปลูกครั้งใหม่ก็ใช้วิธีเผาเศษวัชพืชเพราะรวดเร็วและไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือเกษตรกรไม่สนใจการรณรงค์เลิกการเผาเพราะมองว่าไร้ประโยชน์ หลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ทำให้เกษตรกรเปิดใจยอมรับ เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดสามารถทำได้จริงและไม่เพียงช่วยลดหมอกควัน ไม่ทำให้หน้าดินเสีย ยังสร้างรายได้จากการปลูกพืชเสริมด้วย

หลังดำเนินการมากว่าสามปีพบว่าเกษตรกรใน จ.น่าน เริ่มเข้าใจและพอใจที่จะนำองค์ความรู้ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโดยเฉพาะการทำคันปุ๋ยบนพื้นที่ลาดชันจากตอซังข้าวโพด ปีนี้โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำน่านหวังผลการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรและลดพื้นที่การเผาทั้งจังหวัดให้เหลือ 315,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด 630,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งจังหวัดอยู่ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงในพื้นที่ จ.น่าน 36,055 ไร่ ปีนี้ตั้งเป้าลดการเผาให้เหลือ 21,124 ไร่ หรือประมาณ 60%

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
พีระพล ดำงาม
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:
http://nan.mnre.go.th/more_news.php?cid=7
http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=170311112358

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง