การจัดการธาตุอาหารมะม่วงนวลคำบนพื้นที่สูง

การจัดการธาตุอาหารมะม่วงนวลคำบนพื้นที่สูง

          มะม่วงนวลคำ หรือ ชื่อเดิม “จินหวง” เป็นสายพันธุ์มะม่วงที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ลักษณะผลกลมยาวปลายเรียวแหลม สีผิวผลเมื่อแก่มีสีเหลืองอมเขียว ผลมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 600- 1,500 กรัม สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ผลแก่จัดมีรสชาติมัน เมื่อสุกผิวผลมีสีส้มอมเหลือง อมเขียว รสชาติหวาน เนื้อมาก มีเสี้ยนน้อย เมล็ดลีบ
          ในปี พ.ศ.2560 ผลผลิตมะม่วงนวลคำลดลง 10.2 ตัน (ร้อยละ 20.4 ของปริมาณผลผลิตพันธุ์นวลคำ) เนื่องจากผลผลิตเสียหายและไม่ผ่านมาตรฐาน โดยลักษณะที่พบ คือ ผิวผลขรุขระ ไม่เรียบ มีรอยช้ำที่ผิวผล ภายในเนื้อผลของมะม่วงมีลักษณะเหมือนวุ้น (jelly fresh) สีน้ำตาล ที่บริเวณก้นผลและพบทั้งผล ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากการปฏิบัติดูแลรักษาต้นมะม่วง รวมถึงการจัดการดินและธาตุอาหารพืชที่ยังไม่เหมาะสม ดินในแปลงปลูกมะม่วงส่วนใหญ่มีค่าความเป็นกรด เป็นด่างและปริมาณธาตุอาหารในดินไม่สมดุล นอกจากนี้ มะม่วงพันธุ์นวลคำมีขนาดของผลที่ใหญ่ ทำให้มีการสูญเสียธาตุอาหารไปกับผลผลิตสูงและการจัดการธาตุอาหารพืชอาจไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอ จึงแสดงอาการคล้ายการขาดธาตุแคลเซียมและโบรอน
          ยุทธนาและคณะ (2563) ศึกษาและทดสอบการจัดการธาตุอาหารมะม่วงนวลคำ ในแปลงเกษตรกรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ซึ่งดินมีความเป็นกรดรุนแรงมากถึงกรดจัด (4.12-5.33) ความเข้มข้นของไนโตรเจนและโพแทสเซียมในใบอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่มีความเข้มข้นของธาตุแคลเซียมในใบมะม่วงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าที่เหมาะสม มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับปริมาณแคลเซียมในดินและการจัดการน้ำของเกษตรกร โดยสวนที่มีการจัดการชลประทานจะมีการดูดใช้แคลเซียมมาสะสมในใบดีกว่าพื้นที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จากการทดสอบ พบว่าการจัดการดินและปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปริมาณธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิต (Crop removal) และมีการให้ปุ๋ยแบบ deep root fertilization มีแนวโน้มทำให้ปริมาณและความเข้มข้นของแคลเซียม และจุลธาตุในใบสูงขึ้น และส่งผลให้อาการผิดปกติของผลผลิตมะม่วงนวลคำลดลง 
ดังนั้น วิธีการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดความเสี่ยงจากอาการผิดปกติของมะม่วงนวลคำ มีดังนี้

1) วิเคราะห์ดินเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2) ปรับปรุงดินที่เป็นกรดโดยใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ ซึ่งการปรับปรุงเพื่อเพิ่มพีเอช (pH) 0.1 หน่วย จะใช้ปูนขาว 38.4 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ โดโลไมท์ 64 กิโลกรัมต่อไร่ โดยประมาณ (ตัวอย่าง เช่น การปรับดินจาก ดินที่มี pH 5.0 เป็น 6.0 เป็นการปรับ pH ขึ้น 1.0 หน่วย จะใช้ปูนขาว 384 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ โดโลไมท์ 640 กิโลกรัมต่อไร่)

3) ให้ปุ๋ยตามปริมาณธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิต โดยผลผลิตมะม่วง 100 กิโลกรัม มีการดูดใช้ไนโตรเจน 85 กรัม ฟอสฟอรัส 41.2 กรัม โพแทสเซียม156 กรัม แคลเซียม 159.82 กรัม การให้แคลเซียมในรูปที่ละลายได้ง่าย เช่น แคลเซียมคลอไรด์ในช่วงติดผลขนาดเล็กถึงช่วงพัฒนาของผล รวมถึงให้จุลธาตุทางดินโดยเฉพาะโบรอนและธาตุอื่นๆ

4) ควรมีการให้น้ำอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในช่วงการพัฒนาของผล เพราะหากขาดน้ำ จะมีผลต่อการดูดใช้และลำเลียงธาตุอาหารไปพัฒนาผลผลิตของมะม่วง

 

 
 
 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดารากร อัคฮาดศรี จุไรรัตน์ ฝอยถาวร อาผู่ เบเช
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ยุทธนา เขาสุเมรุ ชิติ ศรีตนทิพย์ และสันติ ช่างเจรจา. 2563. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการย่อยที่ 2 การทดสอบวิธีการจัดการธาตุอาหารสำหรับมะม่วงบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง