เทคนิคการปลูกมันเทศญี่ปุ่นในฤดูฝน

เทคนิคการปลูกมันเทศญี่ปุ่นในฤดูฝน

          ปัญหาสำคัญของการปลูกมันเทศในฤดูฝน (พฤษภาคม - ตุลาคม) ต้นมันเทศมักแสดงอาการเฝือใบ คือ มีการเจริญเติบโตทางส่วนยอดและใบมาก ลงหัวน้อย ส่งผลให้ผลผลิตต่ำ และหัวมีขนาดเล็ก อาการบ้าใบหรือเฝือใบ เกิดจากพืชได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป ซึ่งไนโตรเจน คือ สารอาหารกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น ได้มาจาก ปุ๋ยไนโตรเจน และน้ำ (รดน้ำ น้ำฝน น้ำใต้ดิน น้ำค้าง ความชื้นสัมพัทธ์ ฯลฯ)

อาการเฝือใบในต้นมันเทศญี่ปุ่น

ควบคุมการออกผลหรือใบด้วย ซีเอ็นเรโช (C:N ratio)

          ซีเอ็นเรโช หรือ C:N ratio คืออัตราส่วนของ คาร์บอน (C) และไนโตรเจน (N) หากคาร์บอน (C) ในต้นมันเทศมีปริมาณมาก มันเทศจะออกผล หากไนโตรเจน (N) ในต้นมันเทศมีปริมาณมาก มันเทศจะสร้างใบ คาร์บอน ประกอบด้วย ซากพืช ธาตุอาหารบางตัวที่ใช้สร้างแป้งและน้ำตาล เช่น โพแทสเซียม โบรอน และแคลเซียม เป็นต้น สำหรับไนโตรเจนที่อยู่ในอากาศ ปกติจะถูกนำพาจากการรดน้ำ หรือน้ำฝน ลงสู่ดิน ด้วยเหตุนี้ การที่มันเทศญี่ปุ่นบ้าใบนั้น เกิดจากในต้นมันเทศมีอัตราของไนโตรเจน (N) สูงกว่า คาร์บอน (C)

วิธีแก้ไขอาการเฝือใบ

          การให้น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมันเทศเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำ จะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเฉพาะในช่วงแรกที่มีการปลูกใหม่ๆ เพื่อให้มันเทศเลื้อยคลุมแปลง หลังจากนั้นจะให้น้ำเดือนละ 2 - 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากพื้นที่มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอควรเพิ่มเทคนิคการลดไนโตรเจนด้วยการเพิ่มสารคาร์บอเนตให้กับมันเทศโดยการพ่นโซดา โดยใช้โซดา 1 ขวด (เปิดแล้วใช้ทันที) ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบนใบและใต้ใบทุก ๆ 7 วัน ควรฉีดพ่นในขณะที่ใบและต้นยังแห้งอยู่

          ในส่วนของงานวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินงานทดสอบวิธีการปลูกมันเทศในฤดูฝน โดยทดสอบโดยได้ปลูกทดสอบมันเทศ 2 พันธุ์ ได้แก่ Sp 49 (เนื้อสีเหลือง) และ Sp 61 (เนื้อสีม่วง) มีทั้งหมด 4 กรรมวิธี ได้แก่ 1) ชุดควบคุม (วิธีการปฏิบัติของเกษตรกร) 2) คลุมแปลงด้วยพลาสติกก่อนปลูกมันเทศญี่ปุ่น 3) ปลูกมันเทศญี่ปุ่นในโรงเรือน 4) ฉีดพ่นด้วยของเหลวที่มีส่วนผสมของคาร์บอเนต อัตรา 250 - 500 มิลลิลิตรต่อน้ำ 100 ลิตร ทุกๆ 7 วัน ผลการทดสอบ พบว่า พันธุ์ Sp 49 (เนื้อสีเหลือง) มีปริมาณผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ Sp 61 (เนื้อสีม่วง) สำหรับกรรมวิธีการฉีดพ่นด้วยคาร์บอเนต หรือการคลุมด้วยพลาสติกคลุมแปลงส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตมากกว่าชุดควบคุม แต่การพ่นคาร์บอเนตสัปดาห์ละครั้งจะประหยัดต้นทุนกว่าการใช้พลาสติกคลุมแปลง

ลักษณะมันเทศไม่ลงหัวในชุดควบคุม (ซ้าย) และมันเทศพันธุ์ Sp 49 ในกรรมวิธีฉีดพ่นด้วยคาร์บอเนต (ขวา)

          ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นที่ต่างกัน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตที่ต่างกัน มันเทศบางพันธุ์สามารถให้ผลผลิตสูงในฤดูฝน ซึ่งจะทำการศึกษาพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับฤดูฝนเพิ่มเติม สำหรับอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลสำหรับการยับยั้งการเจริญเติบโตของใบคือ การใช้สารชะลอการเจริญเติบโต ซึ่งมีผลยั้บยั้งจิบเบอเรลลิน เช่น คลอมีควอท เมพิควอทคลอไรด์ แดมิโนไซด์ และแพคโคบิวทาโซล เป็นต้น แต่สารดังกล่าวจะสะสมในดิน และก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว

ปัญหาของผลผลิตมันเทศในช่วงฤดูฝน

  1.           1. หัวมันเทศญี่ปุ่นแตก สาเหตุเกิดจากมันเทศได้รับน้ำ หรือปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ส่วนเนื้อขยายไว โตเร็วมากกว่าส่วนเปลือก จึงปรากฏการแตกของเปลือก (รูปที่ 1)
  2.           2. หัวมันเทศงอกราก สาเหตุเกิดจากเมื่อหัวมันเทศมีการลงหัวในระดับนึงแล้วเจอน้ำฝน ส่งผลให้หัวมันออกราก แล้วหัวมันจะเป็นเส้นใย หรือเสี้ยน (รูปที่ 2)
  3.           3. หัวมันเทศเขียว เกิดจากดินเปิดเห็นหัวมัน เนื่องจากฝนตกตกหนัก และเซาะผิวหน้าดินเปิด จนเห็นหัวมันโผล่ ถือเป็นผลเสียต่อคุณภาพของหัวมัน (รูปที่ 3)
 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นิตยา โนคำ และหนึ่งฤทัย บุญมาลา

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง