"ไม้ป่า" สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ประดับแห้ง

" ไม้ป่า " สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ประดับแห้ง

 

              ผลิตภัณฑ์ไม้ประดับแห้ง ภายใต้ตราสินค้า “บุหงาโครงการหลวง” ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไม้ประดับแห้งในวงกว้าง โดยได้ประยุกต์ใช้ผลิตผลทางการเกษตร ไม้ดอกหรือไม้ล้มลุกที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง นำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นไม้ประดับแห้ง เช่น ดอกจิบโซฟิลล่า ดอกไฮเดรนเยีย  เฟิร์นชนิดต่างๆ รวงข้าวสาลี เป็นต้น แต่ยังมีพันธุ์ไม้ป่าบนพื้นที่สูงทางภาคเหนืออีกหลายชนิด ที่นอกจากการนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์แล้ว ยังสามารถนำส่วนต่างๆ  ของต้นไม้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ประดับแห้งได้ อาทิเช่น ใบ กิ่ง ดอก และผล ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายของวัตถุดิบที่ใช้โดยไม่จำเป็นต้องตัดฟันไม้ อีกด้วย

             พันธุ์ไม้ป่าบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ประดับแห้ง มีเกณฑ์พิจารณา คือ ความสวยงามของรูปทรง และความทนทาน เมื่อนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ ในการทำแห้ง  ได้แก่  ฟอก  ย้อม  ตาก  อบแห้ง  และอบกลิ่น  แล้วจะต้องสามารถคงรูปร่างลักษณะเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

             โดยชนิดไม้ป่าดังกล่าว ได้มาจากการสังเคราะห์จากหนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 1-3 (สุธรรม และคณะ, 2551) ทั้งนี้จะเป็นข้อมูลให้แก่มูลนิธิโครงการหลวงและผู้ที่สนใจ ในการคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีองค์ประกอบตรงกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ดอกไม้แห้ง ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทำกินของตนเอง นอกจากจะทำให้มีรายได้เสริมจากการปลูกแล้ว ยังทำให้มีป่าไม้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
กมลทิพย์ เรารัตน์ นักวิจัย

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง