การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลิตผลอินทรีย์...จำเป็นมากน้อยแค่ไหน?

การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลิตผลอินทรีย์...จำเป็นมากน้อยแค่ไหน?

 

                  สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงในการเกษตรมี 4 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) คาร์บาเมต (carbamate) ไพรีทรอยด์ (pyrethroid) และออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) โดยสารเคมี 3 กลุ่มแรก นิยมใช้ในทางเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ทั่วไป สำหรับกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มสารออร์กาโนคลอรีนในหลายประเทศได้ประกาศห้ามใช้ เนื่องจากสารตกค้างมีความคงทนมาก สลายตัวได้ยากในสิ่งแวดล้อมและสามารถสะสมในร่างกายมนุษย์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สารเคมีตกค้างที่พบบ่อย คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) และคาร์บาเมต (carbamate) ซึ่งเป็นกลุ่มของสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทรอบนอก สารเคมีเหล่านี้เมื่อใช้ในปริมาณที่มากจะไม่สามารถกำจัดให้หมดได้โดยการทำความสะอาดด้วยการล้าง เพราะสารที่ตกค้างสามารถซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของผลผลิต ส่งผลให้เกิดภาวะสารเคมีตกค้างในผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

 

 

 

             การสุ่มตรวจสารตกค้างในผลิตผลมี 2 รูปแบบ คือ

  1. การสุ่มตรวจด้วยวิธีและเครื่องมือที่ง่ายและรวดเร็ว อาศัยหลักการการเปลี่ยนสีของสาร (Colorimetric) ซึ่งหากมีสารที่ต้องการตรวจพบจะเกิดสี เช่น ชุดตรวจสอบสารตกค้าง “จีที” (GT-Pesticide Residual test kit) มักใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น ในปัจจุบันมี 2 แบบ (1) แบบตรวจคัดกรองสารเคมีได้ 2 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ใช้เวลาในการตรวจ 30 นาที และ (2) แบบตรวจคัดกรองสารเคมีได้ทั้ง 4 กลุ่ม ใช้เวลาในการตรวจ 1 ชั่วโมง
  2. การสุ่มตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ซับซ้อน จำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการและใช้เวลามาก แต่มีความถูกต้องแม่นยำ ความจำเพาะ และความไวสูง โดยสามารถตรวจสอบครอบคลุมกลุ่มสารเคมีได้ทั้ง 4 กลุ่ม

            การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลิตผลอินทรีย์...อาจไม่จำเป็นเลย หากเกษตรกรมีคุณธรรม และปฏิบัติตามมาตรฐาน จากประสบการณ์ของผู้เขียน การขอรับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่มหรือโครงการซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลิตผล ซึ่งถือเป็นการคัดกรองระดับหนึ่งเพื่อป้องกันการละเมิดมาตรฐาน และเพื่อป้องกันผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด เนื่องจากหากหน่วยตรวจรับรองมีการสุ่มตรวจสารตกค้างและใช้ผลการตรวจประกอบการรับรองด้วยแล้ว ก็จะส่งผลต่อการรับรองของกลุ่มได้ ซึ่งถ้าผลการสุ่มตรวจไม่พบสารตกค้างก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเกิดพบสารตกค้างในผลิตผลของเกษตรกรรายใดรายหนึ่ง จะทำให้ทั้งกลุ่มไม่ได้รับการรับรอง

 

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.เพชรดา อยู่สุข นักวิจัย
แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

อ้างอิง: http://www.dmsc.moph.go.th/bkm/product_detail.php?id=21 และ

http://www.phtnet.org/2012/06/117/


ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง