ปรับ-น่าน-เปลี่ยน จากแผนชุมชนสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero waste)

ปรับ-น่าน-เปลี่ยน

ตอนที่ 3-1 จากแผนชุมชนสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero waste)

 

          จากเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาพื้นที่สูงของ สวพส. คือ “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเน้นการพัฒนาบนฐานความรู้ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น กระบวนการเริ่มต้นที่สำคัญคือ การให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้นำด้านต่างๆ ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งการอบรม ประชุม ติดตามให้คำแนะนำ ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เกิดเป็นกระบวนการจัดทำแผนชุมชนที่มีคุณภาพควบคู่กับการใช้แผนที่ดินรายแปลงมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา ความต้องการในภาพรวมและเห็นภาพที่ชัดเจนถูกต้องตรงกัน ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาที่เป็นระบบบนฐานของความรู้และข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานทุกภาคส่วน

          ชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีผู้นำและคณะกรรมการชุมชนที่เข้มแข็ง จากเวทีจัดทำแผนชุมชนในปี 2557 ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและพบว่าปัญหาเรื่องการจัดการขยะภายในชุมชนเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อทุกคนในชุมชน จึงเกิดเป็นแผนการพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          จากกระบวนการจัดทำแผนชุมชนของบ้านศรีบุญเรือง พบว่าปัญหาหลักที่ชุมชนต้องการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนคือ ปัญหาการจัดการขยะ ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองจึงกำหนดเป็นแผนการจัดการขยะในระยะต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะภายในปี 2565

ระยะที่ 1 ปี 2558–2559 กระตุ้นตื่นรู้ สู้ปัญหาขยะล้นบ้าน

ระยะที่ 2 ปี 2560–2561 ผสานพลังชุมชน รณรงค์สู้ปัญหาขยะ

ระยะที่ 3 ปี 2562–2563 เดินหน้าสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste Community)

ระยะที่ 4 ปี 2564-2565 เป็นชุมชนปลอดขยะแห่งแรกในจังหวัดน่าน

โดยใช้กระบวนการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) เป็นหลักในการทำงาน

  •    - Plan (การวางแผน) ใช้ข้อมูลจากแผนชุมชนเป็นหลัก
  •    - Do (การดำเนินงาน) ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม
  •    - Check (การประเมินผล) ใช้เวทีประชุมประจำเดือนของชุมชนในการสรุปปัญหาร่วมกัน
  •    - Act (การปรับปรุง) นำข้อมูลจากการประชุมประจำเดือนมาปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องร่วมกัน
  • ระยะที่ 1 ปี 2558 –2559 กระตุ้นตื่นรู้ สู้ปัญหาขยะล้นบ้าน

    กิจกรรมหลัก คือ ตำบลจัดการขยะ

              ในช่วงเริ่มต้นทำโครงการนี้ มุ่งเน้นการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาขยะในประเทศไทย ปัญหาขยะในจังหวัดน่าน จนถึงปัญหาขยะในชุมชน จะพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาขยะล้นเมืองนั้นมักจะถูกอ้างว่าเกิดจากการที่โลกมีประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งขยะที่เกิดจากครัวเรือน/ชุมชน ขยะจากการเกษตรกรรม และขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม  ซึ่งมีทั้งขยะที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายยาก ตลอดจนขยะที่เป็นอันตราย และเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ด้วย ซึ่งขยะแต่ละชนิดแต่ละประเภทควรได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสุขอนามัยที่ถูกต้องและไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

              การจัดการขยะของชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ในแต่ละหมู่บ้านมีการขุดหลุมเพื่อทิ้งขยะของแต่ละหมู่บ้าน และไม่มีการคัดแยกขยะก่อนการนำไปกำจัด บางแห่งขยะล้นเรี่ยราด ส่งกลิ่นเหม็น และมีแมลงวันมาวางไข่ สร้างความรำคาญแก่ชุมชน เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญสำหรับการจัดการขยะบนพื้นที่สูงคือข้อจำกัดเรื่องสภาพพื้นที่เพื่อทำหลุมขยะของชุมชนที่หายากมาก ด้วยเหตุนี้ชุมชนในพื้นที่ตำบลพงษ์ จึงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการกำจัดขยะให้ถูกหลักสุขาภิบาล และการจัดการการขยะในครัวเรือนได้ถูกต้อง ทางชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข ตำบลพงษ์จึงได้เริ่มโครงการจัดการขยะบ้านศรีบุญเรือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านการจัดการขยะในชุมชน และเตรียมความพร้อมเพื่อปรับเปลี่ยนสู่วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมตามแนวทาง Zero waste โดยเน้นการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้เหลือในปริมาณน้อยที่สุดที่ตกค้างในชุมชน โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้

    1. แต่งตั้งและประชุมคณะทำงานโดยคัดเลือกสมาชิกจากชุมชน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการขยะในชุมชน โดยเริ่มจากการชี้แจงบทบาทหน้าที่และแนวทางการดำเนินงานโครงการ
    2. จัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะในชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูล ความคิดเห็น และวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องตามความต้องการและศักยภาพของชุมชน
    3. จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่สมาชิกทุกคนในชุมชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะเบื้องต้น ดังนี้

       - ขยะประเภทรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือนำไปขายให้เกิดรายได้

       - ขยะประเภทย่อยสลายได้นำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

       - แยกและกำจัดขยะที่เป็นอันตรายด้วยวิธีที่ถูกต้อง

    1. สำรวจขยะในตำบลพงษ์โดยการสุ่มในครัวเรือนของ อสม.และให้ อสม. เป็นแกนนำในการคัดแยกขยะในครัวเรือน จำนวน 118 ครัวเรือน(ร้อยละ 100)
    2. จัดทำผ้าป่าขยะ(เพื่อสร้างกระแส กระตุ้นให้ชุมชนมีการตื่นตัว) ในระดับตำบล โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
    3. ติดตามและประเมินผล โดยการตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะในชุมชนโดย อสม.ประจำหมู่บ้าน

    โดยมีแกนนำ คณะกรรมการชุมชน / อสม. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ วัดสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) และได้รับการสนับสุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลพงษ์ 

  • ผลสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม

    ผลผลิต

    -  ประชาชนตำบลพงษ์สามารถคัดแยกในครัวเรือนได้อย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 90 ของชุมชน

    -  ปริมาณขยะในชุมชนมีปริมาณลดลง คิดเป็นร้อยละ 51.16 จากปริมาณขยะเดิม

    -  ชุมชนมีการเปิดบัญชี " กองทุนขยะ ตำบลพงษ์" เพื่อนำรายได้ไปบริหารจัดการ ในการทำป้ายประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมอื่นๆ

    ผลลัพธ์ ประชาชนในตำบลพงษ์เกิดความตื่นตัวและเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการขุดหลุมขยะเริ่มส่งผลกระทบต่อส่วนรวม

      

    ระยะที่ 2 ปี 2560 –2561 ผสานพลังชุมชน รณรงค์สู้ปัญหาขยะ

    กิจกรรมหลัก  คือ รณรงค์หมู่บ้านสะอาด ปลอดขยะ

              จากโครงการตำบลจัดการขยะในระยะที่ 1 ซึ่งเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยการมีส่วนร่วมของแกนนำ คณะกรรมการชุมชน / อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ วัด และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) โดยชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดระเบียบของชุมชนเพื่อรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน ถนน ที่สาธารณะ และสิ่งแวดล้อมให้สวยงามน่าอยู่อาศัยด้วยการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจโดยการตั้งกลุ่มบริหารจัดการขยะ และสร้างกลไกการจัดการขยะโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  มีคณะกรรมการที่ชัดเจน มีกฎระเบียบ และมีแผนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดหมู่บ้านสะอาดระดับครัวเรือนและระดับชุมชนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บ้านศรีบุญเรืองเป็นหมู่บ้านที่ถูกทุกคนในชุมชนมีการจัดการบ้านเรือนสะอาดเป็นระเบียบและสวยงาม ชุมชนมีทัศนียภาพภายในชุมชนที่สวยงามและมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานในชุมชน โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้

    1. ประชุมชี้แจงในที่ประชุมประจำเดือนของบ้านเพื่อให้ทุกคนรับทราบแนวทางการจัดกิจกรรมประกวดครัวเรือนสะอาด คุ้มบ้านสะอาด และประชาคมเพื่อเข้ากิจกรรม
    2. ประสานหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
    3. คัดเลือกคณะกรรมการดำเนินโครงการดังนี้
    •    (1) นายอ้วน เงินลม               ประธาน
    •    (2) นายสมควร สายใจ            รองประธาน
    •    (3) นางจิตรา เตชะเสนา          เลขาฯ
    •    (4) นางประภาพร จันทร์อ้น      เหรัญญิก
    •    (5) นางสาวนภารี เตชะเสนา      ประชาสัมพันธ์
    •    (6) หัวหน้าคุ้ม 5 คุ้มบ้าน กรรมการ
    1. จัดทำเกณฑ์การประกวดครัวเรือนสะอาด และคุ้มบ้านสะอาด ดังนี้
    •    (1) มีการจัดทำความสะอาดบริเวณภายในห้องนอน (10 คะแนน)
    •    (2) มีการจัดทำความสะอาดบริเวณภายในห้องน้ำ (10 คะแนน)
    •    (3) มีการจัดทำความสะอาดบริเวณภายในห้องครัว (10 คะแนน)
    •    (4) มีการจัดทำความสะอาดบริเวณตัวบ้าน (10 คะแนน)
    •    (5) มีการจัดทำความสะอาดบริเวณรอบตัวบ้าน (20 คะแนน)
    •    (6) มีถังขยะภายในบ้านและมีการคัดแยกขยะในครัวเรือน (20 คะแนน)
    •    (7) มีการจัดการน้ำขัง/น้ำเสียภายในตัวบ้าน บริเวณบ้าน (20 คะแนน)
    1. การอบรมให้ความรู้เรื่องวิธีการแยกขยะที่ถูกวิธี แยกขยะแต่ละประเภท รณรงค์ลดถุงพลาสติกในร้านค้า รณรงค์ให้เด็กนักเรียนทิ้งขยะตามจุดทิ้งขยะ และการกำจัดขยะที่ถูกวิธี
    2. กิจกรรมพัฒนาครัวเรือนและสาธารณะประโยชน์ ในวันสำคัญต่างๆ/หรืออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
    3. คณะกรรมการมีการติดตามประเมินผลให้คะแนนสะสมเดือนละ 1 ครั้ง
    4. กำหนดมีการมอบรางวัลครัวเรือนสะอาด คุ้มบ้านสะอาดปีละ 1 ครั้ง

        

    ผลสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม

    ผลผลิต

    1. จำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรม 155 ครัวเรือน
    2. คนในชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประกวดครัวเรือนสะอาดเพิ่มขึ้น และปัจจุบันมีครัวเรือนอย่างน้อยร้อยละ 95 ของครัวเรือนทั้งหมดในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมการคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างถูกวิธีตามหลัก 3Rs
    3. มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทางหอกระจายข่าวเป็นประจำทุกวัน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลชุมชนอื่นไม่ให้มาทิ้งขยะในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด รวมถึงช่วยกันปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนให้น่าอยู่ น่าดู น่ามอง

    ผลลัพธ์   จากกิจกรรมทำให้เกือบทุกครัวเรือนในชุมชนมีการคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs แต่ยังพบปัญหาคือแต่ยังไม่มีการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี มีขยะที่เหลือการจากการคัดแยกและไม่สามารถกำจัดได้ เช่น บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก กล่องโฟม เป็นต้น

  • ระยะที่ 3 ปี 2562 –2563 เดินหน้าสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste Community)

    กิจกรรมหลัก  คือ การจัดการขยะให้เป็นศูนย์ : บ้านศรีบุญเรือง

              จากโครงการรณรงค์หมู่บ้านสะอาดที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี 2561 พบว่าหลังจากมีการคัดแยกขยะแล้วมีขยะบางส่วนที่ไม่สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี  ซึ่งส่งผลให้มีการเผาขยะที่เหลือจากการคัดแยกโดยเฉพาะขยะประเภทพลาสติก การเสนอแนะจากชุมชน คือต้องการจัดอบรมให้ความรู้การคัดแยกขยะและการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี   เพื่อลดการเผาในซึ่งเป็นการกำจัดขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ชุมชนมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นชุมชนปลอดขยะได้อย่างแท้จริง โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้

    1. จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกและการจำกัดขยะอย่างถูกวิธีให้กับทุกคนในชุมชน
    2. จัดศึกษาดูงานให้กับคณะกรรมการชุมชนเรื่องการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร
    3. จัดตั้งคณะกรรมการการจัดการขยะของชุมชนอย่างเป็นทางการ โดยใช้กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, กลุ่มหมู่บ้านสะอาดและกลุ่มเยาวชน ร่วมเป็นคณะกรรมการการจัดการขยะ และกำหนดเป็นนโยบาย “ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองปลอดขยะ” ดังนี้

       1) อสม. ตรวจสอบครัวเรือนของตนเองว่ามีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีหรือไม่

       2) บ้าน อสม. ทุกหลังให้จัดทำเสวียนอย่างน้อย 1-2 อัน (ตามความเหมาะสมของบริเวณบ้าน

       3) รณรงค์การใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าในการไปซื้อของที่ร้านค้าหรือตลาด ลดการนำถุงพลาสติกเข้าบ้าน หากไปไร่/สวน ให้พกปิ่นโตแทนการใช้ถุงพลาสติก

       4) ร้านค้าภายในชุมชน ลดการใช้ถุงพลาสติก

       5) ให้งดการเผาขยะในชุมชน โดยเริ่ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เป็นต้นไป โดยในแต่ละครัวเรือนให้มีการจัดการขยะดังนี้

    •         - ขยะพลาสติกให้แยก พลาสติกสีและพลาสติกใส แล้วรวมกันอัดไว้ในถุงปุ๋ยหรือถุงที่มีขนาดใหญ่
    •         - ขยะกระดาษ กล่องนม ให้ทำแบนๆแล้วมัดรวมกันไว้
    •         - กระป๋องน้ำต่างๆ สเปรย์ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ที่เป็นขยะอันตรายให้แยกแล้วรวมไว้ที่จุดรวบรวมที่ อบต จัดไว้ให้
    •         - ขยะที่แยกไว้แล้วจะนำไปรวมไว้ที่โรงเรือนที่พักขยะของชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง และทางผู้นำชุมชนจะติดต่อรถมารับซื้อ
    1. จัดตั้งโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการขยะและขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อซื้อเครื่องอัดพลาสติกและจัดตั้งธนาคารขยะประจำหมู่บ้านศรีบุญเรือง
    2. คณะกรรมการโครงการหมู่บ้านสะอาด ออกสำรวจหมู่บ้านสะอาดทุกวันที่ 15  ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เป็นต้นไป จนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งหน้าที่การสำรวจไปตามเขตรับผิดชอบของแต่ละคุ้มบ้าน โดยมีเกณฑ์การสำรวจดังนี้
    •         - มีการคัดแยกขยะภายในครัวเรือนอย่างถูกวิธี
    •         - การแบ่งสัดส่วนพื้นที่ภายในบ้านอย่างเหมาะสม
    •         - การปลูกพืชผักสวนครัวในบ้านตั้งแต่ 10-50 ชนิดขึ้นไป
    •         - ความสะอาดบริเวณรอบๆและความสะอาดภายในบ้าน
    •           กิจกรรมตลาดนัดขยะทองคำ (ขยะแลกไข่) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน รูปแบบกิจกรรมตลาดนัดทองคำ คือการนำขยะไม่สามารถจัดการได้จากการคัดแยกขยะของแต่ละครัวเรือน เช่น ขยะพลาสติก กล่องนม กระสอบปุ๋ย เป็นต้น ให้นำมาขายให้ที่ตลาด(แลกไข่ไก่) ซึ่งจะเปิดทุกวันที่ประชุมประจำเดือนของชุมชน และขยะที่ได้จากการรับซื้อทางคณะการกลุ่มจะนำไปแยกประเภท และนำเข้าเครื่องอัดพลาสติกก้อน เพื่อไปจำหน่ายให้กับบริษัทเอกชนต่อไป โดยมีคณะกรรมการกลุ่มคัดแยกขยะ ได้แก่ อสม.ประจำหมู่บ้าน จำนวน 18 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 6 คน ประชุมวางแผนการบริหารจัดการขยะที่รวบรวมได้ และกำหนดกฎระเบียบ วิธีการต่างๆ โดยเน้นให้ประชาสัมพันธ์ให้งดการเผาขยะภายในบริเวณชุมชนเพื่อลดการก่อมลพิษทางอากาศ ขยะที่ครัวเรือนคัดแยกไว้แล้วจะนำมารวมที่ตลาดนัดคือหอประชุมหมู่บ้าน เดือนละ 1 ครั้งในวันที่มีการประชุมประจำเดือน โดยแต่ละครัวเรือนมีการจัดการขยะดังนี้

      •         - ขยะพลาสติกให้แยก พลาสติกสีและพลาสติกใส แล้วรวมกันอัดไว้ในถุงปุ๋ยหรือถุงที่มีขนาดใหญ่
      •         - ขยะกระดาษ กล่องนม ให้มัดรวมกันไว้
      •         - ขวดสเปรย์ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ที่เป็นขยะอันตรายให้แยกแล้วรวบรวมนำส่งอบต. เพื่อรอการกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

                กิจกรรมตลาดนัดทองคำเกิดจากความตั้งใจของผู้นำชุมชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่เกิดจากการคัดแยกขยะในครัวเรือนแล้วขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้คือขยะจำพวกพลาสติก  กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี โดยประเมินจากปริมาณขยะที่คนในชุมชนนำมาขายให้กับตลาด เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นไข่ไก่ หรือของใช้เล็กๆน้อยๆ  นอกจากนี้ชุมชนได้ร่วมมือกับโรงเรียนบ้านศรีบุญเรืองสนับสนุนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ และนำมาขายให้ตลาดด้วย จากกิจกรรมตลาดนัดทองคำ (ขยะแลกไข่) ภายในชุมชนได้พัฒนาต่อยอดเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนใกล้เคียงอื่น และได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน มีวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้ นอกจากนี้ยังมีฐานเรียนรู้อื่นๆในชุมชนอีก ได้แก่ ฐานเรียนรู้ผลิตชาชงสมุนไพรในท้องถิ่นฐานผลิตลูกประคบก้อนฐานผลิตลูกประคบน้ำฐานผลิตถ่านดูดกลิ่น / ถ่านอัดแท่ง

    • ผลสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม

      ผลผลิต

      1. ชุมชนมีการจัดการขยะได้ตามประเภทของขยะแต่ละชนิดได้โดยไม่ต้องนำขยะไปเผาหรือทิ้งที่บ่อขยะของชุมชน
      2. มี “ตลาดนัดขยะทองคำ”(ขยะแลกไข่) เกิดขึ้นในชุมชนบ้านศรีบุญเรือง จำนวน 1 แห่ง โดยทุกคนในชุมชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน

      ผลลัพธ์   ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองสามารถจัดการขยะได้อย่างถูกวิธีตามหลัก 3Rs ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ถูกสุขอนามัย และแต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการคัดแยกขยะ รวมถึงเป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อเรียนรู้และศึกษาดูงานให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปอีกด้วย

       

      กิจกรรม 3Rs จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ  

      ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองเน้นการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะโดยเริ่มจากภายในครัวเรือนมาสู่ชุมชน ให้มีการคัดแยกขยะ ออกเป็น 4 ประเภท โดยใช้หลักการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs คือ

      1. ขยะอินทรีย์ให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
      • การจัดการซังข้าวโพดซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีปริมาณมหาศาลเนื่องจากชุมชนบ้านศรีบุญเรืองเดิมอาชีพหลักคือทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะเหลือซังข้าวโพดกองเป็นภูเขากระจายอยู่ทั่วชุมชนเพื่อรอการเผา ซึ่งเป็นการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธีและส่งผลต่อการเกิดปัญหาหมอกควันพิษในพื้นที่อีกด้วย จากปัญหาดังกล่าวชุมชนจึงประสานกับนักวิจัย สวพส.เพื่อศึกษาวิธีจัดการขยะและพบว่าซังข้าวโพดสามารถนำมาแปรรูปเป็นถ่านอัดแท่งได้ ชุมชนจึงจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด เพื่อนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง นอกจากจะไม่วัสดุทางเกษตรเหลือทิ้ง ช่วยลดการเผาในพื้นที่แล้ว ยังสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนเพิ่มขึ้น
      • การจัดการเศษอาหาร ใบไม้ หญ้า และอื่นๆในชุมชน ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนจัดทำเสวียนบริเวณรอบโคนต้นไม้ และทำถังกรีนโคน  เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้/หญ้า และเศษอาหาร ซึ่งนอกจากช่วยจัดการขยะในครัวเรือนแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนจากการให้ปุ๋ยต้นไม้รอบบ้านอีกด้วย
      1. ขยะรีไซเคิลที่ยังใช้ได้ คือ บรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ เป็นต้น สำหรับขยะรีไซเคิลนี้เป็นขยะที่พบมากที่สุด สำหรับวิธีการให้จัดการขยะประเภทนี้คือการคัดแยกขยะเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้ชุมชน และเน้นการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นงานฝีมือ เช่น งานประดิษฐ์ของตกแต่งบ้านโดยนักเรียนในชุมชน งานจักสานจากกล่องนม แจกันดอกไม้จากขวดพลาสติก เป็นต้น
      2. ขยะทั่วไป คือขยะที่นอกเหนือจากขยะอินทรีย์และ ขยะรีไซเคิล ส่วนใหญ่คือถุงพลาสติกใช้แล้วกล่องนม และกล่องโฟม สำหรับขยะประเภทนี้ชุมชนได้เน้นลดการใช้ (Reduce) โดยรณรงค์ให้คนในชุมชนใช้ปิ่นโตไปวัด ไปร้านค้าแทนการใช้ถุงพลาสติก/กล่องโฟม ใช้ตะกร้าและถุงผ้าไปตลาดทดแทนการใช้ถุงพลาสติกขอความร่วมมือให้ร้านค้าภายในชุมชนงดใช้ถุงพลาสติกใส่ของ หรืออาหาร สนับสนุนให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย ทดแทนการใช้กล่องโฟม และมีการรวบรวมขยะที่ในชุมชนไม่สามารถจัดการได้ เช่น พลาสติกนำไปอัดเป็นก้อนและและขายให้บริษัทเอกชนนำไปรีไซเคิลใหม่  ซึ่งในชุมชนบ้านศรีบุญเรืองพบปริมาณขยะชนิดนี้ในจำนวนที่ค่อนข้างน้อยมาก ประมาณเฉลี่ย 1.6 กิโลกรัม/วัน (คิดเป็นร้อยละ 0.62 ของปริมาณขยะทั้งหมดในชุมชนต่อวัน) วิธีการจัดการของชุมชนที่ผ่านมาให้นำไปทิ้งที่บ่อขยะของชุมชนแต่เนื่องจากมติของการประชุมประชาคมในชุมชนให้มีการปิดบ่อขยะไปแล้วจึงทำให้ขยะประเภทนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำขยะทั่วไปที่เหลือจากการคัดแยกของชุมชนแล้วไปกำจัด/ ทิ้งในบ่อขยะของจังหวัดซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในจังหวัดน่านที่เป็นบ่อขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาล
      3. ขยะอันตรายที่รวบรวมได้จากการคัดแยกขยะในชุมชนบ้านศรีบุญเรือง ปัจจุบันมีปริมาณเฉลี่ย 0.18 กิโลกรัม/วัน (คิดเป็นร้อยละ 0.07ของปริมาณขยะทั้งหมดในชุมชนต่อวัน) มีวิธีการจัดการโดยแบ่งออกเป็น 3 ชนิดได้แก่

         (1) ขยะติดเชื้อ มีการจัดเก็บและทำลายโดย รพ.สต.

         (2) ขยะอันตราย ได้มีการจัดตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายไว้ให้ 1 จุดโดยองค์บริหารส่วนตำบลพงษ์จะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บและทำลาย

         (3) ขยะพิษ เช่น ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ได้รับการสนับสนุนโรงเก็บรวบรวมขยะพิษไว้ให้ 1 จุด โดยหน่วยงานสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) จะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บและทำลาย

    • นวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด

                สมาชิกชุมชนบ้านศรีบุญเรืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรจะจัดจำหน่ายในรูปของเมล็ด ทำให้ซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีกะเทาะเอาเมล็ดออกแล้ว ถูกนำไปทิ้งหรือเผาไปโดยสูญเปล่า ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและมลภาวะเป็นพิษ จากข้อมูลการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ในปี พ.ศ. 2557 ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 1,628 ไร่ และในแต่ละปีจะมีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้งอยู่ 341,880 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่งได้ถึง 136,752 กิโลกรัมต่อปี

                สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีองค์ความรู้เรื่องผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและให้พลังงานความร้อน สามารถนำมาใช้ทดแทนฟืน ถ่านไม้และก๊าซหุงต้ม ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงคุณค่าการนำซังข้าวโพดมาทำถ่านอัดแท่ง เนื่องจากไม้ที่ใช้ทำฟืนและถ่าน ซึ่งต้องไปตัดฟันจากป่าได้เริ่มหมดลง และราคาแก๊สหุงต้มมีราคาแพงขึ้น ตลอดจนเป็นการพึ่งพาตนเองและลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน

                สมาชิกชุมชนบ้านศรีบุญเรืองจึงมีการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง เพื่อดำเนินการด้านการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้เข้ารวมกลุ่มกันโดยความสมัครใจ และมีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557 ทั้งนี้เพื่อให้การจัดตั้งกลุ่มมีรูปแบบที่ถูกต้อง และมีการรับรอง ให้การสนับสนุนจากภาครัฐ ในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของชุมชน ในรูปของนิติบุคคล เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานอื่น อันเป็นการส่งเสริมความมีศักยภาพของหมู่บ้านศรีบุญเรือง จึงเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และได้จัดทำระเบียบกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรืองขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการกลุ่มดำเนินไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งได้มีการประชุมกลุ่มร่วมกับสมาชิกในกลุ่ม เรื่อง การลงมติเพื่อขอขึ้นทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ณ หอประชุมหมู่บ้านศรีบุญเรือง หมู่ 2  ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน ปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน รหัสทะเบียน 6-55-11-03/1-0038 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

                โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดบ้านศรีบุญเรือง  ไม่ว่าจะเป็นการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด การสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการกลุ่มและการดำเนินงานของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของกลุ่ม จนกระทั่งกลุ่มได้เริ่มมีการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการบริหารจัดการด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดทำบัญชีกลุ่ม ระบบการทำงานกลุ่ม ทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในตัวสมาชิกกลุ่มเอง และมีตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด “ถ่านอัดแท่งศรีบุญเรือง” ทะเบียนเลขที่ 171133965 จดทะเบียน ณ วันที่ 12 เมษายน 2559

                ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2562 มีสมาชิกกลุ่มจำนวน 12 คน ได้มีการดำเนินการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง และมีการเพิ่มมูลค่าถ่านโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน และได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าศรีบุญเรืองถ่านชาร์โคล 
      เลขที่ 180144199 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 รวมถึงผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่นจาดซังข้าวโพดได้ใบรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ถ่านดูดกลิ่น และอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนถ่านดูดกลิ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามมาตรฐานเลขที่ มผช.180/2560 ซึ่งสมาชิกกลุ่มสามารถสร้างรายได้และขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น

                ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ ปัจจุบันบ้านศรีบุญเรืองยึดแผนชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนโดยใช้แผนชุมชน คือ เรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชน โดยชุมชนสามารถบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะได้ จากความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนในการดำเนินกิจกรรม เน้นการสร้างจิตสำนึก สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญการจัดการขยะของชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยในพื้นที่ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพงษ์ พัฒนาชุมชนอำเภอสันติสุข โรงเรียนบ้านศรีบุญเรือง  และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดการขยะของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองประสบความสำเร็จ ปัจจุบันชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้รับการยอมรับจากหน่วยต่างๆ และชุมชนใกล้เคียง ให้เป็น“ชุมชนต้นแบบเรื่องการบริหารจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน”

       ปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชนที่ลดลง

      ปริมาณขยะทั้งหมดก่อนดำเนินการ          523.28   กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 1.27   กก./วัน

      ปริมาณขยะทั้งหมดหลังดำเนินการ          255.86   กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน 0.01   กก./วัน

      ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง                  0.65    กิโลกรัม/วัน

       

      ปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์

      ขยะอินทรีย์      247     กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน            0.60    กก./วัน

      ขยะรีไซเคิล       7.5      กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน            0.01    กก./วัน

      ขยะทั่วไป         -        กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน              -       กก./วัน

      รวมปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์         254.5   กิโลกรัม/วัน เฉลี่ยต่อคน0.62   กก./วัน

      คิดเป็นร้อยละ                                 99.46   จากขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชุมชน

    • ปรับ-น่าน-เปลี่ยน

      ตอนที่ 3-2 ชุมชนปลอดขยะ VS หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง VS ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่านเกี่ยวข้องกันอย่างไร

                หลักสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน คือการยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในทุกกระบวนการดำเนินงาน และส่งเสริมให้ชุมชนนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน สำหรับการบริหารจัดการขยะของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองก็ได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

      หลักความพอประมาณ คือ โดยกิจกรรมต่างๆ เน้นให้ทุกครัวเรือนเริ่มจากการทำกิจกรรมทุกอย่าง “ในบ้าน” ของตนเองก่อน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่เกินกำลัง และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และเน้นการให้ทางเลือกที่ชุมชนสามารถปฏิบัติได้จริง ไม่เพิ่มภาระทั้งด้านค่าใช้จ่ายและความรู้สึกเหนื่อยยากเพิ่มขึ้น เช่น สนับสนุนการใช้ถุงผ้า หรือปิ่นโต ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นของที่ทุกครัวเรือนมีอยู่แล้ว เป็นต้น

      หลักความมีเหตุผล เน้นการพัฒนาชุมชนบนฐานของความรู้และข้อมูล โดยทุกคนในชุมชนร่วมกันใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ประกอบกับการใช้แผนที่เพื่อวิเคราะห์ชุมชน ค้นหาปัญญา สาเหตุ และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน สรุปเป็นแผนพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองที่ใช้ร่วมกันทั้งชุมชนและหน่วยงานต่างๆ

                โดยเฉพาะการมุ่งสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะ ทุกคนในชุมชนต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขยะในชุมชน ต้ององค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจตรงกัน จึงนำไปสู่การเริ่มต้นการดำเนินกิจกรรมโดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะ โดยนำหลัก 3R มาใช้ ประกอบด้วย การลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่

      1. ขยะรีไซเคิล จะแยกเป็นขยะที่แปรรูปได้ ในส่วนขยะที่แปรรูปได้ เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ จะนำไปเข้ากิจกรรมตลาดนัดขยะทองคำ โดยแลกไข่ สิ่งของ ทางชุมชนจะขายขยะรีไซเคิลต่อไป และนำเงินมาหมุนเวียนในการทำกิจกรรมต่อไป
      2. ขยะย่อยสลายได้ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ การนำไปใช้ประโยชน์ คือ เลี้ยงสัตว์ เช่น ไส้เดือน ไก่ ปลา ทำเสวียน ทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ นำหมักชีวภาพ เพื่อใช้บำรุงดิน รดต้นไม้ ภายในบ้านหรือสวนต่อไป
      3. ขยะทั่วไป การนำไปใช้ประโยชน์ เช่น กล่องนม UHT นำประดิษฐ์ต่างๆ ร่วมกับโรงเรียนในชุมชน, แยกขยะพลาสติกทำความสะอาดแล้วนำไปอัดก้อน ส่วนขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้เลยจะเข้าสู่ระบบการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
      4. ขยะอันตราย นำไปจุดรวมขยะอันตรายของหมู่บ้าน เข้าสู่ระบบการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ

       

      หลักการมีภูมิคุ้มกัน คือ

                ระดับครัวเรือน เน้นการพึ่งพาตนเองให้จัดการขยะในครัวเรือนที่ตนเองสร้างขึ้นได้ เช่น การคัดแยกขยะโดยสมาชิกทุกคนในครัวเรือน การสอนให้ชุมชนสามารถทำผลิตภัณฑ์ใช้เองในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู ส่งเสริมการปลูกผัก/พืชสมุนไพรในครัวเรือน เพื่อลดการไปซื้อของที่ตลาด การให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับปริมาณขยะที่แต่ละครัวเรือนผลิตในแต่ละวัน ปริมาณขยะรวม ผลกระทบ/ปัญหาระยะยาว เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชุมอย่างต่อเนื่อง

                ระดับชุมชน จัดทำจุดคัดแยกขยะ จุดแปรรูปขยะ จุดรับซื้อขยะ เพื่อให้กิจกรรมการจัดการขยะของชุมชนสามารถทำได้ครบวงจรภายในชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกมากเกินไป

      เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม จากกระบวนการดำเนินกิจกรรมโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย จะเห็นว่าทุกขั้นตอนเน้นการให้ความรู้ ข้อมูล กระบวนการมีส่วนร่วม และการสร้างจิตสำนึกรักชุมชน รักสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายของทุกกิจกรรมคือเพื่อทุกคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

       จากชุมชนปลอดขยะตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่านอย่างไร

                เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของจังหวัดน่าน ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองเองก็ประสบปัญหาการใช้พื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากการไม่มีอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ ป่าไม้ถูกทำลาย การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร การเผาเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตรซึ่งทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่า

                จากปัญหาข้างต้นจะเห็นว่าชุมชนบ้านศรีบุญเรืองได้บริหารจัดการเพื่อให้ทุกกิจกรรมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาอาชีพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น ต้องมีกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย โดยกิจกรรมหลักของชุมชนบ้านศรีบุญเรืองที่สอดคล้องตามนโยบายของจังหวัดน่าน ได้แก่

                1) การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดแนวเขตพื้นที่ทำกินกับแนวเขตพื้นทีป่าเพื่อช่วยลดการใช้พื้นที่ ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และช่วยลดการใช้สารเคมีและลดการเผาขยะที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ซังข้าวโพด)

      •           2) การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางเลือกทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยนำองค์ความรู้โครงการหลวงและหน่วยงานบูรณาการมาปรับเปลี่ยน ได้แก่ การปลูกพืชในโรงเรือน การปลูกไม้ผลยืนต้นควบคู่ไปกับการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการปลูกหญ้าแฝก จัดทำฝายกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำ ซึ่งช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูดินและน้ำในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
      •           3) การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยใช้แผนชุมชน เพื่อการวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการขยะ เช่น การจัดการขยะในครัวเรือน การจัดการขยะในชุมชน การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเพื่อสร้างมูลค่า เช่น การผลิตปุ๋ยหมัก ผลิตน้ำหมักชีวภาพมาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่เพาะปลูกพืช และนำเศษพืช ผักที่เหลือใช้ในครัวเรือนในภาคการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิตพืชได้
      •           4) การส่งเสริมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยกำหนดให้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องประจำทุกปี เช่น การขุดลอกฝายเพื่อลดปริมาณขยะและตะกอนในลำน้ำ เป็นต้น

       

      จากชุมชนปลอดขยะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านศรีบุญเรือง

      1) การวางระบบการบริหารจัดการขยะ โดยมีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้กำกับติดตาม โดยกำหนดเป็นวาระในการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเพื่อติดตามรายงานผล ปัญหา และข้อเสนอแนะ
      ด้านการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง

      2) สร้างทีมเยาวชนรุ่นใหม่สืบทอดกิจกรรม โดยคณะกรรมการชุมชนประสานงานร่วมกับโรงเรียนให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการจัดการขยะในชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน และสร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตั้งแต่เด็กเพื่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้สึกว่าการแยกขยะเป็นภาระหรือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว

      3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ปรับรูปแบบการดำเนินงาน ร่วมกันวิเคราะห์แก้ไขปัญหา และพัฒนากิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงขยายผลสำเร็จให้กับชุมชนอื่นๆที่สนใจให้เข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย

      4) การพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้/องค์ความรู้ภายในชุมชน จากกิจกรรมตลาดนัดขยะทองคำ เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน“ฐานการจัดการขยะในชุมชน”ที่ชุมชนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนคนอื่นได้ พร้อมยังเป็นพัฒนาฐานเรียนรู้ชุมชน เกิดเป็นแหล่งศึกษาดูงานชุมชน ซึ่งชุมชนดำเนินการเองได้ มีวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้พัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านศรีบุญเรือง”และยังฐานเรียนรู้อื่นๆ ได้แก่

      ฐานการเรียนรู้โดยการจัดการของครัวเรือน

      1. บ้านตัวอย่างการจัดการขยะ (บ้านพ่ออ้วน)
      2. บ้านการทำลูกประคบและการอบสมุนไพร (บ้านแม่ตอง, บ้านพ่อแหยม)
      3. บ้านเหยียบข่าง (บ้านพ่อพุธ)
      4. ภูมิปัญญาท้องถิ่น การสู่ขวัญ (บ้านพ่อหนานคำ)
      5. การจัดการขยะเปียก Green Cone (ตลาดชุมชนโดยแม่ครูจิตตรา)

      ฐานการเรียนรู้โดยการจัดการของกลุ่ม

      1. ตลาดนัดทองคำ (ธนาคารขยะบ้านศรีบุญเรือง)
      2. ฐานการเรียนรู้ชาชง
      3. การทำถ่านอัดแท่งจากแกนข้าวโพด
      4. การเรียนรู้วัฒนธรรมประจำชุมชนบ้านศรีบุญเรือง (รำวง, การฟ้อนเมือง, การทำขนมเมือง)

       

      รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของบ้านศรีบุญเรือง ซึ่งสามารถเป็นชุมชนตัวอย่างด้านต่างๆในจังหวัดน่าน ดังนี้

- 2559 หมู่บ้านศีล 5 ระดับจังหวัดในปี พ.ศ.2559 จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน

- 2560 หมู่บ้านประชาธิปไตยต้นแบบระดับอำเภอสันติสุข

- 2560 หมู่บ้าน OTOP หมู่บ้านนวัตวิถี มีการจัดทำโครงการหมู่บ้านสะอาด ชุมชนสวยงาม

- 2560 รางวัลชนะเลิศ หมู่บ้าน / ชุมชนสะอาด ระดับตำบล

- 2561 รวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในชุมชนและให้ชุมชนภายนอกได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

- 2562 มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนจำนวน 5 คณะ ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงาน จำนวน 230 คน

- 2563 รางวัลชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ระดับดีเยี่ยม (ชุมชนขนาดกลาง) ระดับภาค จากกระทรวงทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ข้อมูลและภาพโดย

    นางสุพรรณ บูรณเทศ ผู้ใหญ่บ้านศรีบุญเรือง

    คณะกรรมการหมู่บ้านศรีบุญเรือง

    โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพงษ์

    องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์

    โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

    กลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สวพส

    กลุ่มงานสังคม สวพส.

 
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
นางสาวกรรณิการ์ กันหา นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สวพส. นางสาวพัชรพรรณ พุ่มชื่น เจ้าหน้าที่พัฒนา สวพส. นางสาวเพียงออ ศรีเพ็ชร นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สวพส. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ข้อมูลนี้เป็นที่น่าพึงพอใจหรือเป็นประโยชน์สำหรับท่านหรือไม่
 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง