ความเป็นมา - การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์การ


การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร ของ สวพส.

 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้พัฒนาองค์กรตามแนวทางมาตรฐานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) ที่มีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 90 ประเทศนำไปประยุกต์ใช้ สวพส. ได้เริ่มศึกษาและดำเนินการตามแนวทางมาตรฐาน TQA ในปีงบประมาณ 2560 โดยจัดตั้งคณะทำงานพัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร (TQA) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งได้มีการวิเคราะห์โครงร่างองค์กร ทำให้รับทราบปัญหาและสิ่งที่จะดำเนินการแก้ไขในแต่ละหมวด และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้มีการวางแผนปรับปรุงงานในแต่ละส่วน เพื่อพัฒนางานด้านต่างๆ ให้มีผลงานบรรลุตามวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์การจัดตั้ง สวพส. การดำเนินการตามแนวทางรางวัลคุณภาพ TQA เป็นประโยชน์ในการช่วยปรับปรุงกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถ และผลลัพธ์การดำเนินงานขององค์กร กระตุ้นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างองค์กร รวมทั้งชี้นำความคิดในเชิง กลยุทธ์ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ

ในปี 2561 คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 มีมติให้หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งองค์การมหาชน พัฒนาองค์การสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 โดยมอบมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทำหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินการตรวจรับรองสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้พัฒนาเกณฑ์การประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 โดยได้จัดทำคู่มือและระบบการประเมินออนไลน์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ในการวิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุงองค์กร ตลอดจนการวางแผนและพัฒนาหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นระบบราชการ 4.0

ในการประชุมผู้บริหาร สวพส. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้ สวพส.เข้าร่วมการประเมินสถานะของหน่วยงานสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 โดย สวพส. ได้ประกาศเจตนารมณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการองค์การสู่ความเป็นเลิศด้านวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมีเป้าหมายในการยกระดับ องค์กรเป็นองค์การสมรรถนะสูง ทันสมัย มีคุณภาพด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และบุคลากรที่มีสมรรถนะสูงในการพัฒนางานและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ นำสู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง



ประกอบกับการยกระดับบริการภาครัฐของ สวพส. ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดกว้างเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น และมุ่งพัฒนาให้เป็นองค์การสมรรถนะสูง ทำให้ สวพส. สามารถส่งมอบบริการให้ชุมชนบนพื้นที่สูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานในระดับประเทศและนานาชาติ ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 สวพส. ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศ “เลิศรัฐ” (Public Sector Excellence Awards; PSEA) และรางวัลเลิศรัฐสาขา การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ยังได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) ประกาศให้โครงการ “Good Practice of Sustainable Highland Development: People Live in Harmony with Forest" ต้นแบบชุมชนอยู่ร่วมกับป่า โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs (SDG Good Practices) เป้าหมายที่ 2 12 13 และ 15 จากโครงการที่มีแนวปฏิบัติที่ดีและผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 465 โครงการทั่วโลก 



จากทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นสิ่งพิสูจน์รวมทั้งแสดงให้เห็นการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงว่า หลักการและวิธีการพัฒนาตามแนวทางโครงการหลวง (Royal Project Model) เป็นรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกบริบทของพื้นที่และสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางกระแสโลกยุคผันผวน

8 กุมภาพันธ์ 2567