ชันโรง “ขี้ตั๋งนี” แมลงจิ๋วรายได้งาม
ชันโรง “ขี้ตั๋งนี” แมลงจิ๋วรายได้งาม
“ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว” (Stingless bee) เป็นแมลงสังคมขนาดเล็ก มีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรของพืชมาใช้เป็นอาหารเช่นเดียวกับผึ้ง จัดอยู่ใน Family Apidae เช่นเดียวกับผึ้ง แต่แตกต่างจากจากผึ้งที่ชันโรงไม่มีเหล็กไน จึงไม่สามารถต่อยศัตรูได้ ชันโรงจึงมีฟันกราม (mandible) ที่แข็งแรงใช้กัดศัตรูเพื่อต่อสู้ป้องกันรังแทน ชันโรงมีการแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนเท่านั้นซึ่งในปัจจุบันมีการสำรวจและรายงานการค้นพบชนิดชันโรงมากกว่า 400 ชนิด ใน 50 สกุลทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีการรายงานพบชนิดชันโรง 39 ชนิด แต่ละชนิดพบมีการกระจายตัวอยู่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และระดับความสูงของพื้นที่อาศัยจากระดับน้ำทะเล (สมนึกและอรุณรัตน์, 2549; จิตเกษม, 2533)
ชันโรง สามารถอาศัยอยู่ตามรอยแยก รอยแตกของชั้นหิน ต้นไม้ โพรงไม้ เสาไม้ กำแพงบ้านที่เป็นปูนหรืออิฐ ช่องว่างฝาบ้าน รวมไปถึงโพรงจอมปลวกหรือรังมดเก่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวน โดยสามารถแบ่งแยกที่อยู่อาศัยของชันโรงได้อย่างชัดเจนเป็น 2 แบบ คือ
- โพรงในธรรมชาติโพรงเหล่านี้มักจะถูกพบเจอได้บ่อยครั้งในธรรมชาติ ในป่า เขตชุมชน วัด โรงเรียน และพื้นที่ทำการเกษตร .
- โพรงเทียม สิ่งปลูกสร้าง หรือกล่องเลี้ยงรูปแบบต่างๆ ที่สร้างโดยมนุษย์ มักพบเจอชันโรงมาอาศัยอยู่ตามรอยแตกรอยแยกหรือโพรงช่องว่างของสิ่งก่อสร้าง อาทิ กำแพงบ้าน เสาบ้าน ทั้งที่สร้างจากเนื้อปูนซีเมนต์หรือไม้หรือเหล็ก รวมไปถึงท่อน้ำ ท่อเหล็ก กล่องต่าง ๆ
ชันโรงสร้างปากทางเข้ารังด้วยไขผสมยางไม้และกรวดหรือดิน โดยมีชันโรงงานคอยเฝ้าป้องกันศัตรูเข้ารัง เราสามารถพบรังชันโรงได้ทั้งในที่โล่งแจ้ง โพรงที่อยู่บนดิน เช่น โพรงต้นไม้ ตามรอยแตกแยกของหิน และโพรงใต้ดิน เช่น โพรงในรังปลวกหรือรังมด โดยมีลักษณะปากทางเข้ารังอยู่ 2 แบบ คือ รูปท่อ และรูปแตร
อย่างไรก็ตามมีชันโรงที่สามารถเลี้ยงในลังหรือโก๋นและให้ผลผลิตน้ำผึ้งในประเทศไทย 3 ชนิด คือ ชันโรงขนเงิน (Tetragonula pegdeni) ชันโรงถ้วยดำ (Trigona laeviceps) และชันโรงปากแตรใหญ่ (Lepidotrigona terminata) นอกจากนี้การเลี้ยงชันโรงยังสามารถพัฒนาการเลี้ยงให้สามารถเลี้ยงได้ในแปลงพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ และกาแฟ ซึ่งนอกจากจะช่วยผสมเกสรให้แก่พืชแล้วชันโรงยังสามารถให้น้ำผึ้งเช่นเดียวกับผึ้ง ก่อให้เกิดรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงให้กับเกษตรกรได้
ในการแยกขยายรังหรือการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ ต้องทำการคัดเลือกชันโรงที่แข็งแรงและพร้อมจะนำมาเพิ่มปริมาณ และต้องคำนึงถึงปริมาณของประชากรภายในรัง (ตัวเต็มวัย ตัวอ่อน ดักแด้) ถ้วยเกสร และถ้วยน้ำผึ้ง ที่มีในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้แยกขยายลังและใช้เลี้ยงประชากรทั้ง 2 รัง ได้มากพอ (รังเก่าและรังใหม่)
ปัจจุบันราคาจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงในท้องตลาดกิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นน้ำผึ้งที่ราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่ว ๆ ไป เนื่องจากน้ำผึ้งชันโรงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า เพราะพฤติกรรมการเก็บอาหารของชันโรงจะเก็บเกสรมากกว่าเก็บน้ำหวานจากพืช ในอัตราการ 80:20 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากผึ้งที่มีอัตราส่วนเก็บเกสรต่อน้ำหวาน 50 : 50 เปอร์เซ็นต์ น้ำผึ้งจากชันโรงจึงมีเกสรอยู่ในมวลน้ำผึ้งมากกว่า นอกจากนี้กระเปาะน้ำผึ้งของชันโรงมีขนาดเล็ก แต่ละรังให้ปริมาณน้ำผึ้งน้อย โดยชันโรงที่เลี้ยงในลังไม้ประกอบจำนวน 4 ลัง จึงจะให้น้ำผึ้ง 1 กิโลกรัม ด้วยเหตุนี้น้ำผึ้งของชันโรงจึงเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะผู้บริโภคที่เน้นเรื่องสุขภาพมากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป นอกจากนี้ ชัน หรือ พรอพโพลิส (Propolis) คือสารสกัดจากรังชันโรง มีลักษณะเหนียวข้นได้มาจากยางของเปลือกไม้ที่ชันโรงได้รวบรวมเอาไว้และนำมาผสมกับไขผึ้ง ซึ่งชันโรงจะใช้สารสกัดนี้ซ่อมแซมรังอุดรอยรั่ว รวมถึงใช้รักษาความสะอาดและป้องกันเชื้อโรคที่จะกระจายในรังด้วย พรอพโพลิสเป็นสารฆ่าเชื้อโรคตามธรรมชาติเพราะมีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และยับยั้งการอักเสบได้ดี ใช้สมานแผลและรักษาโรคผิวหนังต่างๆ ได้อีกด้วย จึงนิยมนำพรอพโพลิสมาผสมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเช่น สบู่ ยาสีฟัน เพื่อช่วยป้องกันและยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
การเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพทางเลือกอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะการเลี้ยงชันโรงนั้นต้องอาศัยทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้อาชีพทางการเกษตร เช่น การปลูกพืช ไม้ผล พืชไร่ ก็สามารถเลี้ยงชันโรงให้อยู่ร่วมกับพืชเศรษฐกิจนี้ได้ เพราะชันโรงจะเป็นตัวแพร่กระจายเกสรพืช ทำให้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มการใช้สารเคมีทางการเกษตรลดลง ส่วนน้ำผึ้งจากชันโรงสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง ก่อให้เกิดรายได้ให้กับเกษตรกร และเกิดอาชีพการเลี้ยงชันโรงบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน