โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน”

ความเป็นมาของโครงการ

ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2549 ทรงรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ไผ่ศึกษาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช การขยายพันธุ์เขียดแลวของกรมประมง การขยายผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านเมืองแพม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในวโรกาสดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เฝ้ารับเสด็จ ว่าทรงห่วงใยสภาพป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำ และดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และให้พสกนิกรเหล่านั้นสามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงจัดทำโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ข้างต้น เป็นโครงการที่ดำเนินงานแบบบูรณาการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่โครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยการสนับสนุนและร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อดำเนินการพัฒนาตามแนวพระราชเสาวนีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ รวม 2 คณะ ประกอบด้วย (1) คณะกรรมการอำนวยการโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” และ (2) คณะกรรมการบริหารและกำกับดูแลโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งได้ดำเนินงานมาแล้ว 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551 – 2554) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 1.672 ล้านไร่ ใน 6 จังหวัด 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก พบว่าเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายของโครงการที่หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปส่งเสริม มีความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติ สามารถนำผลผลิตที่ได้ไปบริโภคในครัวเรือนและเหลือจำหน่าย ส่งผลให้สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ทำให้เกษตรกรในโครงการร้อยละ 50 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทางโครงการจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนากลุ่มอาชีพต่าง ๆ ไปสู่ระบบสหกรณ์ ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการรวมกลุ่มอาชีพ กลุ่มเตรียมสหกรณ์เป็นส่วนใหญ่ ยังจะต้องพัฒนาให้กลุ่มเหล่านี้ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในระบบสหกรณ์ที่สมบูรณ์ต่อไป สำหรับด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้วยงบประมาณและต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจในระบบนิเวศ ให้คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืนจึงเป็นเหตุผลให้ต้องดำเนินการต่อไปในระยะที่ 2

ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2555 – 2559) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และในช่วงกลางแผนแม่บท ระยะที่ 2 ได้เพิ่มพื้นที่ดำเนินการอีก 1 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำหมัน จังหวัดเลย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 การดำเนินงานในระยะที่ 2 พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในสภาวะเศรษฐกิจ และลดพื้นที่การเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าต้นน้ำ นอกจากนั้นยังมีการสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันในส่วนของอาชีพ อาทิ การทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานในรูปแบบของธนาคารอาหารชุมชน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างแปลงสาธิตการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตรแบบประณีต เพื่อเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่ แต่ถึงกระนั้นการดำเนินงานก็ทำได้เพียง 76 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 123 หมู่บ้าน หรือเพียง 62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมไปทุกหมู่บ้านเป้าหมาย และในผลการดำเนินงานระยะที่ 2 นี้ มีการบูรณาการตามยุทธศาสตร์ ในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันในการจัดทำแปลงสาธิต การปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมด้วยการปฏิบัติจริง ซึ่งเห็นผลการดำเนินงานที่เจน ทำให้เกษตรกรหมู่บ้านข้างเคียงมีความศรัทธา และเข้ามาเรียนรู้ พร้อมทั้งนำไปปฏิบัติในหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้จะทำให้ขยายผลการดำเนินงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ดำเนินงานต่อเนื่องในพื้นที่โครงการทั้ง 11 ลุ่มน้ำใน 7 จังหวัด พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าลดลง และมีจำนวนพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์อย่างถูกต้องเหมาะสม มีการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานมีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และมีหนี้สินลดลง มีการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ และมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ภายใต้การบริหารจัดการที่มีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งในบางพื้นที่เริ่มประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมไม้ผลควบคู่กับไม้ท้องถิ่น การทำเกษตรผสมผสานด้วยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้ได้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย และการส่งเสริมความรู้ ด้านระบบโลจิสติกส์และการตลาด

 

จากผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา แม้ว่าความสำเร็จของการพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำจะเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม การกระจายการพัฒนายังทำได้ช้าและยังมีลักษณะกระจุกตัว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมีจำนวนมาก ชุมชนตั้งอยู่กระจัดกระจายและห่างไกล การคมนาคมเข้าถึงพื้นที่ทำได้ยาก ทำให้การสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐยังไม่เต็มที่ เกษตรกรขาดความรู้ด้านการประกอบอาชีพและการส่งเสริมด้านอาชีพยังไม่มีความต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาที่ยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาด้านสังคม ปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งปัจจุบันมีผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญของพืชและผลผลิตต่าง ๆ และการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางด้านการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ จะต้องทำควบคู่กันไป จึงจะเกิดการพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการโครงการฯ จึงได้ทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมบูรณาการ ให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ประสงค์ที่จะให้ พสกนิกรที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำ และดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และให้พสกนิกรเหล่านั้นสามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน รวมทั้งเป็นภูมิคุ้มกันรองรับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

เป้าหมายของการดำเนินงาน

  1. ลดการบุกรุกทำลายป่า และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร ในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอและมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
  3. มีศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับชุมชน และกลุ่มบ้าน โดยเชื่อมโยงกับองค์กร สถาบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้

ขอบเขตพื้นที่ดำเนินงาน

พื้นที่ดำเนินงานอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยพื้นที่เป้าหมาย 11 ลุ่มน้ำ 7 จังหวัด 16 อำเภอ 26 ตำบล 129 กลุ่มบ้าน ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 พื้นที่ดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)

พื้นที่ลุ่มน้ำ ตำบล (26) อำเภอ (16) จังหวัด (7) จำนวนกลุ่มบ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
1. ลุ่มน้ำของ นาปู่ป้อม ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน 11 1,447 4,199
ถ้ำลอด 2 347 1,158
ปางมะผ้า 1 211 577
2. ลุ่มน้ำปาย ผาบ่อง เมือง แม่ฮ่องสอน 6 2,608 5,782
ปางหมู 6 3,211 7,034
ห้วยผา 1 335 988
เวียงเหนือ ปาย 1 521 1,415
3. ลุ่มน้ำแม่สะงา หมอกจำแป๋ เมือง แม่ฮ่องสอน 8 1,779 6,073
ปางหมู 1 503 1,213
4. ลุ่มน้ำแม่สะมาด - ห้วยหมากลาง ห้วยโป่ง เมือง แม่ฮ่องสอน 5 531 1,968
ผาบ่อง 1 229 656
แม่อูคอ ขุนยวม 1 211 765
ขุนยวม 1 235 740
5. ลุ่มน้ำปิงน้อย ห้วยห้อม แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน 5 153 832
ปางหินฝน แม่แจ่ม เชียงใหม่ 3 161 871
6. ลุ่มน้ำแม่หาด แม่ตื่น อมก๋อย เชียงใหม่ 6 224 1,280
7. ลุ่มน้ำคำ แม่สลองใน แม่ฟ้าหลวง เชียงราย 8 2,110 7,803
เทอดไทย 3 516 2,255
8. ลุ่มน้ำขุนน่าน ขุนน่าน เฉลิมพระเกียรติ น่าน 11 1,033 3,847
บ่อเกลือเหนือ บ่อเกลือ 5 726 1,530
9. ลุ่มน้ำลี น้ำหมัน ท่าปลา อุตรดิตถ์ 12 2,401 7,138
จริม 1 56 180
10. ลุ่มน้ำภาค บ่อภาค ชาติตระการ พิษณุโลก 16 2,399 8,774
น้ำกุ่ม นครไทย 1 160 453
นาบัว 1 303 1,222
11. ลุ่มน้ำหมัน กกสะทอน ด่านซ้าย เลย 12 2,201 7,877
รวมทั้งสิ้น 129 24,611 76,630

คำนิยาม กลุ่มบ้าน หมายถึง หมู่บ้านย่อยในหมู่บ้านทางการของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนำหมู่บ้านย่อย ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกัน มารวมกัน เพื่อให้มีขนาดใหญ่พอสำหรับตั้งเป็นหมู่บ้านทางการ


รูปภาพที่ 1 แผนที่แสดงที่ตั้งและขอบเขตพื้นที่โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน”

ผลการดำเนินงาน

ปีงบประมาณ 2565 โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงจำนวน 6 ลุ่มน้ำ จาก 11 ลุ่มน้ำ มีแปลงสาธิตในพื้นที่จำนวน 5 แห่ง ซึ่งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ (เป้าหมายปี 65 จำนวน 4 ลุ่มน้ำ 4 แปลงสาธิต) โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่อง การปลูกพืชอินทรีย์ การปลูกพืช GAP การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง การบริหารจัดการน้ำ การรวมกลุ่ม และแนวทางการทำงานแบบบูรณาการ มีเกษตรกรได้รับองค์ความรู้จำนวน 606 ราย (เป้าหมายปี 2565 จำนวน 550 ราย) อยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเลย สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตร 4,807,893 บาท มีปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชผสมผสาน หรือพืชสร้างมูลค่าได้จำนวน 337 ไร่ ตัวอย่างพื้นที่ ที่เป็นแปลงเรียนรู้และขยายผลการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ประสบผลสำเร็จเชิงประจักษ์ คือ พื้นที่การดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคจังหวัดพิษณุโลกที่ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชอินทรีย์ โดยอาศัยการทำงานแบบบูรณาการ และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้นจากหน่วยงานร่วมบูรณาการ กระทั่งปัจจุบันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการปลูกพืชอินทรีย์และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการและโลจิสติก ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงใกล้เคียง มีการรวมกลุ่มเกษตรจำนวน 3 กลุ่ม ใน 3 จังหวัดเพื่อให้มีอำนาจในการต่อรอง จนปัจจุบันมีภาครัฐและเอกชนมาร่วมลงทุนในปัจจัยด้านต่าง ๆ

ปัจจุบันกรมเกษตรกร ขยายผลการดำเนินงานในเรื่องการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเรื่องการวางแผนการผลิต การตลาดและระบบโลจิสติกส์ ไปยังพื้นที่สูงจังหวัด อื่น ๆ เช่น จังหวัดตาก จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเชียงใหม่ และมีการวางแผนการผลิตร่วมกับภาคเอกชน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนถึงการจัดจำหน่าย