สวพส.ร่วมประชุมหาแนวทางช่วยเกษตรกรต่อยอดการเกษตรแบบไม่เผา
(25 มีนาคม 2568) ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการเกษตรแบบไม่เผา
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพิจารณาร่างแผนโครงการแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายหน้าดินบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568 - 2570) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเผาด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมถึงความก้าวหน้าการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ การดำเนินงานโครงการเกษตรวิทยาพัฒนา พื้นที่สวนบ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไตรมาสที่ 1-2 (ตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568)
จากหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดโลกให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีนโยบายไม่รับซื้อสินค้าทางการเกษตรที่มาจากการเผาหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จังหวัดเชียงใหม่จึงตระหนักถึงความสำคัญของแนวทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถทำการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งพาการเผา ทั้งยังส่งเสริมแนวทางการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น การไถกลบ การทำปุ๋ยหมัก การนำเศษวัสดุมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและรักษาคุณภาพดินแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ได้อีกด้วย
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวเพิ่มเติมว่า สวพส. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง รวมถึงการสนับสนุนเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรที่ลดการเผา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่กำลังเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง คือการพัฒนาแนวทางการเกษตรแบบยั่งยืนและไม่เผา เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนบนพื้นที่สูงในระยะยาว