การพัฒนาทางเลือกมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รับมือการท้าทายทุกประเด็น
จากการพัฒนาทางเลือกมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน:
เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาทางเลือก เพื่อรับมือการท้าทายทุกประเด็นของโลก
มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และหน่วยงานสนับสนุน จัดประชุมวิชาการนานาชาติ การพัฒนาทางเลือกมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน : เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาทางเลือก เพื่อรับมือการท้าทายทุกประเด็นของโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2567 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จึงเป็นประเด็นท้าทายการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเลือกที่สามารถเผชิญได้ทุกมิติ โดยเฉพาะมิติยาเสพติด จากฝิ่นมาเป็นสารเคมีสังเคราะห์ จึงต้องร่วมระดมความคิด วิเคราะห์ในการเสริมสร้างกำลังให้กับการพัฒนาทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมั่นคงและยั่งยืน 55 ปี ของรูปแบบการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนของโครงการหลวง จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีและได้รับการยอมรับโดยขยายการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานร่วมบูรณาการต่าง ๆ รัฐบาลได้นำไปปรับเป็นนโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับและเผยแพร่ในระดับสากล องค์การสหประชาชาติระบุเป็นแนวทางการปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนา และยกย่องให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือก มีบทบาทในเวทีนานาชาติ
การจัดประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เป็นการนำผลสำเร็จจากการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงด้วยรูปแบบการพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวง เผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ และเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งใช้โอกาสในการประสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่สูงในประเทศไทย และนานาประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนในการสร้างพลังของการพัฒนาทางเลือกเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและนานาประเทศสามารถเดินทางไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว 29 ประเทศ โดย นาง กาดา ฟาติ วาลี ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา (Ms. Ghada Fathi Waly, UNODC Executive Director) ได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุมและปาฐกถา มุมมองของ UNODC กับรูปแบบการพัฒนาทางเลือกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจาก FAO ประเทศไทย รวมทั้งเกษตรกรจากพื้นที่พัฒนาของโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ประเทศเมียนมา สาธารณรัฐประชาชนลาว โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมอีกกว่า 450 คน
ในการนี้ ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดได้เดินทางไปเรียนรู้ในพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในแง่มุมที่แตกต่าง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยกับปีที่ 8 ของการพัฒนา สามารถกำจัดฝิ่นบนพื้นที่ฝิ่นผืนสุดท้ายของประเทศไทย คนในชุมชนได้รับการพัฒนาในทุกมิติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ต้นแบบการพลิกฟื้นจากเขาหัวโล้น สู่พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในการขยายผลสำเร็จการดำเนินงานแบบโครงการหลวง คือ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวอย่างของชุมชนไม้มีค่า ดูแลรักษา สร้างรายได้ คนในชุมชนป่าแป๋มีการประกอบอาชีพที่สมดุลและเกื้อหนุนการอยู่ร่วมกันป่า และสามารถต่อยอดป่าเมี่ยงและป่าชุมชนไปสู่การสร้างรายได้ และการสร้างคาร์บอนเครดิต การันตีโดยรางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2564 ประเภทสัมฤทธิ์ผล ประชาชนมีส่วนร่วม