เปิดสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวงถ่ายทอดหลักการพัฒนาพื้นที่สูง
เปิดสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวงถ่ายทอดหลักการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
(3 ก.ค. 67) พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย ศ.ดร.อานัฐ ตันโช คณะทำงานอาสาสมัครฝ่ายประชาสัมพันธ์และสารสนเทศมูลนิธิโครงการหลวง ดร.เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันด้านบริหารจัดการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ ดร.ประภัสสร อารยะกิจเจริญชัย หัวหน้าฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับผู้แถลงของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีมหามงคล ในการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา มูลนิธิโครงการหลวงเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นดำเนินงานสนองในพระราชปณิธาน และได้เตรียมจัดกิจกรรมสำคัญ โดยการแถลงข่าวการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์นายกกิตติมศักดิ์ ผู้ทรงเป็นทศมมหาราชา ทรงเป็นต้นแบบของความกตัญญู และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย จากพระปฐมบรมราชโองการ สืบสาน รักษา ต่อยอด และจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่อาณาราษฎร ทรงมีพระบรมราโชบายให้มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวงให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุข รวมทั้งพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและสากล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จึงเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานปรากฎผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการ ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก
สถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถาบันการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนของโครงการหลวง หรือ Best Practice ในรูปแบบโครงการหลวง หรือ Royal Project Model องค์ความรู้จากประสบการณ์การทำงานทั้งด้านการวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ และพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง 39 แห่ง ต่อยอดและถ่ายทอดการเรียนรู้ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นอีกหนึ่งของแหล่งให้ความรู้และศึกษาดูงานการขยายผลสำเร็จการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง รวมถึงอุทยานหลวงราชพฤกษ์ แหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ และองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่สำคัญของประเทศ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้โครงการหลวง ในการพัฒนาในปัญหาและบริบทต่างๆ ที่สำคัญ เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับหน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้
- การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างครบวงจร ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและการบูรณาการของทุกภาคส่วน ต้นแบบของการทำให้คนอยู่ร่วมกับป่า มีความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
- การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการเกษตรมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักตลาดนำการผลิตตามแนวทางโครงการหลวง
- การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การเผา และฝุ่นควันบนพื้นที่สูง ด้วยการปรับโครงสร้างระบบการเกษตร จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชไร่ เป็นระบบการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- รูปแบบการพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวงได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติว่าเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ และได้นำไปดำเนินการในพื้นที่ปัญหาของประเทศต่าง ๆ จนเกิดผลสำเร็จการพัฒนาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหายาเสพติด
แนวทางปฏิบัติที่ดีภายใต้โครงการหลวงโมเดล ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 55 ปี พร้อมถ่ายทอดและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง จึงนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวงขึ้น เป็นการพัฒนาต่อยอดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ สถานีเกษตรหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ให้เป็นแหล่งของการศึกษาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับประชาชนชาวไทยและชาวโลก