มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. เปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี’67
มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. เปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี’67
เพื่อขยายผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ“ผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน”และเปิดงาน (ในวันที่ ๓0-๓1 พฤษภาคม 2567) โดย ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ ประธานคณะทำงานวิจัย มูลนิธิโครงการหลวง นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และข้อคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทางงานวิจัยบนพื้นที่สูงระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย นำไปสู่แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรบนพื้นที่สูงผ่านการเสวนาและบรรยายพิเศษ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดประมาณ 450 คน
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี กล่าวว่า มูลนิธิโครงการหลวง และสวพส.ดำเนินงานควบคู่และต่อเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการวิจัย พัฒนา และการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และการทำลายทรัพยากรธรรชาติบนพื้นที่สูง ก่อให้เกิดคุณูปการต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล กลายเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาที่ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นับเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา และถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่มูลนิธิโครงการหลวง ครบรอบ 55 ปี จัดประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านงานวิจัยบนพื้นที่สูง เสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันตลอดจนการบูรณาการงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบนพื้นที่สูง ของหน่วยงานเครือข่ายการวิจัยและหน่วยงานบริหารทุนวิจัย มุ่งมั่น สืบสาน รักษา และต่อยอดดำเนินงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความอยู่ดี กินดี รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศไทยให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลสำเร็จในการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมบนพื้นที่สูงของโครงการหลวงและการขยายผลไปยังพื้นที่สูงอื่นภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผ่านกลไกการขับเคลื่อนการวิจัยร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมายร่วมกัน ก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการ โดยกระบวนการวิจัยเน้นการรวบรวม การเก็บรักษา การสังเคราะห์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหาร และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์บนพื้นที่สูง ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมุ่งยกระดับคุณภาพงานวิจัยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานด้วย กล่าวได้ว่าผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศอย่างมาก