สวพส. จับมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนงาน แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
สวพส. จับมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่สูง
มุ่งปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
(19 พ.ค. 67) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) ได้เข้าร่วมติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 (Steering Committee) ครั้งที่ 4 โดยมีดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 เป็นประธานการประชุมติดตามงาน พร้อมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และหน่วยงานบูรณาการ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
สวพส. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการใช้งานวิจัยและองค์ความรู้ไปใช้แก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร ด้วยการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบโครงการหลวงถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการเผาและฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเข้าไปดำเนินการในอำเภอแม่แจ่ม ในพื้นที่เป้าหมาย 10 หมู่บ้าน โดยนำระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบโครงการหลวง ไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรแบบเดิมทั้งในรูปแบบการทำไร่หมุนเวียน หรือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนำพืชทางเลือกอื่น ๆ เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ประกอบกับองค์ความรู้และการจัดการอย่างถูกต้องโดย “ไม่เผา” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานร่วมบูรณาการ และชุมชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และเห็นทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน หรือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ในขณะเดียวกันการทำการเกษตรในรูปแบบอื่น ๆ จำเป็นต้องมีน้ำเป็นตัวเข้าไปสนับสนุนในการปรับระบบเกษตร จึงต้องมีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือการนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ปรับระบบ จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 10 หมู่บ้าน เช่น การทำบ่อพวง ระบบกระจายน้ำ หรือวงบ่อซีเมนต์กักเก็บน้ำที่ต้นทุนไม่สูงมาก เพื่อให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ปรับระบบเกษตร และอีกหนึ่งกิจกรรม คือ กิจกรรมการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ภาคการเกษตร ซึ่งเชื่อมโยงกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการจัดทำเครื่องอัดก้อนเพื่อลดขนาดของเศษวัสดุภาคการเกษตรให้เล็กลง ช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่มีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ สวพส.และหน่วยงานร่วมบูรณาการ ได้ดำเนินการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยตามแนวคันปุ๋ยในแปลงเกษตร และการสับและไถกลบในพื้นที่ หรือในพื้นที่ที่มีการเลี้ยววัว ในช่วงที่มีเศษวัสดุทางการเกษตร การสามารถปล่อยวัวเข้ามากินเศษต้นข้าวโพดซึ่งเป็นจัดการเศษวัสดุเหลือใช้อีกรูปแบบหนึ่งอีกด้วย การดำเนินงานถ่ายทอดองค์ความรู้และสนับสนุนพืชทางเลือกในการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ สวพส.ดำเนินการอยู่นั้นจะส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2568 จะสามารถลดปริมาณจุด Hotspot ใน 10 หมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่ม และเป็นต้นแบบการนำรูปแบบการพัฒนาไปขยายผลในพื้นที่สูง ๆ ของประเทศไทยต่อไป