มอบโล่เชิดชูเกียรติ 10 ชุมชนบนพื้นที่สูงต้นแบบ “คาร์บอนต่ำ"

มอบโล่เชิดชูเกียรติ 10 ชุมชนบนพื้นที่สูงต้นแบบ “การพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำ”อย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ปี 66

         เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายน 2567 มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีมอบโล่พร้อมใบรับรอง และเกียรติบัตรโครงการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โดยมีพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นผู้มอบโล่รางวัลพร้อมใบรับรองให้กับผู้นำชุมชนที่ผ่านมาตรฐานการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มอบเกียรติบัตรให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่สนับสนุนกิจกรรมชุมชนคาร์บอนต่ำ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่

- บ้านโป่งน้อยใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

- บ้านแม่จันใต้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย

- บ้านป่าไม้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

- บ้านวังไผ่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

- บ้านแม่หลอดเหนือ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

- บ้านศรีบุญเรือง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งค่า อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

- บ้านห้วยน้ำใส โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- บ้านแม่จันหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

- บ้านปางแดงใน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

- บ้านบวกควาย โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าเกี๊ยะใหม่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่


          มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม การเกิดก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเกิดการบูรณาการความร่วมมือกัน ระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาต้นแบบการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง เข้าสู่มาตรฐานชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยหวังว่าชุมชนบนพื้นที่สูงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือกำจัดมลพิษและมลภาวะในอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนนั้น ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย การบริหารจัดการเสียหายในชุมชนและในพื้นที่ของป่าไม้และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชุมชนคาร์บอนต่ำมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและมีความสมดุลกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

          โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาเกณฑ์การประเมินและกำหนดตัวชี้วัดมาตรฐานชุมชนคาร์บอนต่ำบนพื้นที่สูงขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีชุมชนบนพื้นที่สูง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และได้รับการยกระดับมาตรฐาน เพื่อเป็นต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืนแล้ว จำนวน 39 แห่ง

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม