ต่อยอดความรู้สู่จัดการฟาร์มผักให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก
สวพส. ต่อยอดความรู้สู่จัดการฟาร์มผักให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. โดยโครงการยกระดับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงให้เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงที่มีมาตรฐาน จัดหลักสูตร “การบริหารจัดการฟาร์มผักให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก” นำโดย ดร.สุรชาติ วุฒาพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการฟาร์มเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวงและ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Robert Hinrichsen เจ้าของบริษัท Kalfresh Farming Co. Queensland Australia ซึ่งเป็นบริษัทผลิตผักที่มีขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของประเทศออสเตรเลียและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการฟาร์มผลิตพืชผัก มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการฟาร์มผลิตผักเพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานปลอดภัย และความสำคัญของจุลินทรีย์ในดินต่อการเจริญเติบโต การสร้างความแข็งแรงและยืดหยุ่นของพืชต่อความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรที่ปลูกผักในประเทศออสเตรเลีย
Mr. Robert Hinrichsen กล่าวว่า บริษัทได้ผลิตผักที่เน้นเรื่องความสด โดยพืชผักที่ปลูกนั้นมีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ถั่วแขก แครอท และหอมหัวใหญ่ โดยการสลับหมุนเวียนการปลูกพืช เช่น ข้าวโพดหวานและถั่วแขก จะปลูกในฤดูร้อน ส่วนแครอทและหอมหัวใหญ่ จะปลูกในช่วงฤดูหนาว การเลือกปลูกผักแบบนี้ทำให้สามารถผลิตผักได้ทั้งปี โดยเลือกพื้นที่ปลูกตามสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถส่งผลผลิตได้ทุกวัน การปลูกพืชหมุนเวียนต้องผ่านการวางแผนอย่างดี เพื่อเลือกปลูกพืชแต่ละชนิดให้ตรงกับช่วงเวลาและฤดูกาล แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะทำให้ได้รับผลดีทั้งเรื่องดินและรายได้
ดร.สุรชาติ วุฒาพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการฟาร์มเกษตร ทิ้งท้ายว่า ภารกิจการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้มุ่งเน้นดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะการปลูกพืชผัก ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนผลิตพืช ซึ่งต้องตามให้ทันกับนวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ ประกอบกับการลดการใช้สารเคมีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีต่อผู้ปลูกและผู้บริโภค พร้อมช่วยลดต้นทุนและทุ่นแรงให้กับเกษตรกรด้วย