สวพส. ร่วม สัมมนาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ

อ่าน: 843 ครั้ง

 

การประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ

หัวข้อ "ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม"

  วันที่ 30 มกราคม 2567 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวซาญต้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate, HTAPC) ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ หัวข้อ "ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม" ณ โรงแรมคงการ์เต้นท์วิวรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย และระบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom และ FB Live ทางเพจ Hub of Talents on AirPollution and Climate – HTAPC 

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ประสบปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี และได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพั ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นไปอีก ในหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้นักวิจัยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทางวิชาการเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 ในด้านต่าง ๆ ที่ยังขาดอยู่หรือยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อข้องใจและมีสิ่งที่ไม่เข้าใจของทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไปในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนั้น ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate, HTAPC) ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้จัดการประชุมสัมมนาวิซาการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับฝุ่นละอองPM 2.5 มาไขข้อข้องใจและสิ่งที่ไม่เข้าใจในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือให้กับนักวิชาการและประชาชนทั่วไปให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน

โดยในการประชุมสัมมนาครั้งนี้เริ่มจาก รศ.ตร.สมพร จันทร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.วนิสา สุรพิพิธ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ, ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), และคุณบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ พูดถึงแหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่นละออง PM2.5 และฝุ่นทุติยภูมิในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากนั้นได้มีการนำเสนอเรื่องการจัดการกับปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยนายปรีชา ทองคำเอี่ยม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (จ.เชียงราย), นายยุทธพงษ์ บุตรเนตร สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย), ดร.ณัฐกานต์ วงศ์ฝั้น กรมควบคุมมลพิษ, ผศ.ภูภัศ ปภาณ์ณภาภูมิษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถัดมานายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, คุณปาริชาติ อินสว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ, พลโทวีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน และผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ และสุดท้ายเป็นการพูดถึงการจัดการกับฝุ่นละออง PM2.5 จากหมอกควันข้ามแดน โดยดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ, คุณวิลาวรรณ น้อยภา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, ผู้แทนคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น Township Border Committee (TBC) เมียนมา-ไทย, รศ.ดร.ธีรชัย อำนวยล้อเจริญ มหาวิทยาลัยพะเยา และนายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวฮ จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือในการแก้ไขปัญหาของชุมชนบนพื้นที่สูง โดยปัญหาหลัก ๆ คือ ประชากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เกษตรกรมีความยากจน ขาดความรู้ สวพส.จึงนำเอาหลักการทำการเกษตรกรแบบโครงการหลวง เลือกพืชผลทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงเหมาะสมกับพื้นที่ ทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่น้อย ทำน้อย ได้มาก เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดใช้สารเคมี ไม่เผา ใช้ตลาดนำการผลิต พัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการการตลาดได้ ในช่วงท้าย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าอยากแก้ปัญหาการเผาและหมอกควันบนพื้นที่สูงต้องแก้ที่ปากท้องของพี่น้องเกษตรกร เป็นสำคัญ

ซึ่งจากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการนำสิงที่ไม่เข้าใจด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว ก็จะนำไปสู่การนำเสนอมาตรการการจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

31 มกราคม 2567

ข่าวสาร / กิจกรรม สวพส. ล่าสุด