องคมนตรี ติดตามงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (น่าน)

สวพส. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้ การต้อนรับ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี

ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ

          วันที่ 1 ธันวาคม 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้ การต้อนรับ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงาน กปร. เดินทางไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เชิญสิ่งของพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย เสื้อกันหนาว มอบแก่เด็กในพื้นที่ 150 ตัว และถุงพระราชทานแก่ราษฎร และผู้ปฏิบัติงาน 359 ถุงมอบของที่ระลึก จำนวน 2 ชุด ให้แก่ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ หัวหน้าสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง โอกาสนี้ มอบพันธุ์ปลานิล และพันธุ์สัตว์ปีก แก่ตัวแทนราษฎรเพื่อขยายพันธุ์ เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน

          พร้อมติดตามการดำเนินงานของสถานีฯ ซึ่งเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ในปี 2547 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง พบว่าราษฎรมีการบุกรุกทำลายป่า จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น เน้นให้ "คนอยู่คู่กับป่า อย่างเกื้อกูลกัน" จากการดำเนินงานเกือบ 20 ปี ทำให้ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่ ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ 2 หมู่บ้าน กว่า 200 ครัวเรือน สามารถปรับเปลี่ยนการทำนาดำมาทำนาแบบขั้นบันได ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีกว่า รวมทั้งส่งเสริมการปลูกหม่อนกินผลสด เสาวรส สตรอว์เบอร์รี กาแฟ และการเลี้ยงสัตว์ มีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปไทยลั๊วะบ้านสะเกี้ยง และในปีงบประมาณ 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ ได้เข้ามาทบทวนแผนชุมชนเพื่อทราบปัญหาความต้องการของชุมชน โดยให้ทางชุมชนมีบทบาทในหารคิดวิเคราะห์พื้นที่ และหาแนวทางแก้ไขพัฒนาร่วมกันแบบบูรณาการหน่วยงาน โดยมีการส่งเสริมอาชีพระยะสั้นให้แก่ชุมชน ได้แก่การปลูกผัดในโรงเรือน นำร่องจำนวน 12 ครอบครัว 12 โรงเรือน จนทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย รายสัปดาห์ 2,500 บาท รายเดือน 10,000 บาทและรายปี 120,000 บาท ต่อครอบครัว ระยะต่อไปจะดำเนินการขยายผลให้แก่ชุมชนต่อไป เพื่อส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งเกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศ ป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้เพิ่มขึ้นกว่า 7,500 ไร่ และปี 2555-2566 ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการ และเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ และหน่วยงานบูรณาการ

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม