คณะผู้บริหารสวพส. ยกทีมลงพื้นที่แม่แจ่ม เร่งแก้ปัญหา PM 2.5

คณะผู้บริหารสวพส. ยกทีมลงพื้นที่แม่แจ่ม เร่งแก้ปัญหา PM 2.5

 

          (3 ตุลาคม 2566) นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง พร้อมด้วยคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ประกอบด้วย นางสาวลดาวัลย์ คำภา นายสมพร อิศวิลานนท์ นายสุทัศน์ ปลื้มปัญญา  และนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม พร้อมร่วมประชุมกับเกษตรกร ผู้นำชุมชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เรื่อง การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและค่าฝุ่น PM. 2.5 ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง กล่าวว่า สวพส. พัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวง ใน 44 พื้นที่ โดยให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมแบบเดิม  ที่ใช้สารเคมี ใช้พื้นที่เยอะ หมุนเวียนพื้นที่ เป็นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเกษตรแบบปราณีต ทำน้อยได้มาก และสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่าได้จนเห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สวพส. มุ่งเป้าขยายพื้นที่การพัฒนาพื้นที่สูง และได้เลือกลุ่มน้ำแจ่ม ในอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมพื้นที่หนึ่ง และเป็นต้นน้ำของลำน้ำปิง ลำน้ำสายสำคัญของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ สวพส. เข้าดำเนินงานอย่างเข้มข้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา  สวพส. จับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการแผนงานและงบประมาณ รวมถึงกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในการแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาพี่น้องในชุมชนบนพื้นที่สูง

          ทั้งนี้ สวพส. มุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยหลักการทำงานแบบโครงการหลวง และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้เล็งเห็นถึงความสำเร็จของรูปแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้จริง  จึงร่วมกับทุกภาคส่วน มี สวพส.เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน เลือกพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ผลักดันให้เป็นต้นแบบการพัฒนา ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การใช้แผนที่ดินรายแปลง การนำผลงานวิจัยไปใประโยชน์ และทำการตลาดนำผลผลิต

          จากเดิม สวพส. ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอยู่ 2 พื้นที่ 21 หมู่บ้าน โดยในอำเภอแม่แจ่ม เมื่อปลายปี 2565 สวพส. ได้จับมือร่วมกับทุกตำบลในอำเภอแม่แจ่ม MOU ร่วมกันเพื่อมุ่งเป้าพัฒนาแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรบนดอย โดยเลือก 19 หมู่บ้าน ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเข้าขั้นวิกฤต

          ต่อมา นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง ได้เล็งเห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และยังเห็นว่าพื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมากอาจส่งผลให้เกิดการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดฝุ่นละอองที่มีค่าเกินมาตรฐาน หรือ PM 2.5  ทั้งนี้ได้เสนอรูปแบบแก้ไขโดยนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งขายให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ซึ่ง สวพส. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับบริษัทเอกชนที่รับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปทำชีวมวลอัดแท่งจำนวนหลายพันตันต่อปี

          โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งตัวอย่างการดำเนินงานของ สวพส. ที่เป็นรูปธรรมด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำแก่ชุมชนบนพื้นที่สูง สะท้อนการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เกิดการยกระดับการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกภาคส่วน และการกระตุ้นศักยภาพผู้นำเกษตรกร กลุ่มสถาบันเกษตรกร ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็งและพัฒนาต่อยอดด้านอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้รับคัดเลือก รับโล่รางวัล “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ประจำปี 2564” จำนวน  3 รางวัล และได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) “บ่อน้ำร่วมแบ่งปัน : ระบบน้ำเพื่อการเกษตร”

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม