หลักสูตรการประยุกต์ใช้โครงการหลวงโมเดลในการพัฒนาพื้นที่สูง

การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร

 การประยุกต์ใช้โครงการหลวงโมเดลในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์วูก้าเวิลด์

The Application of the Royal Project Sustianable Highland Development Model in an Unsettled and Unpredictable VUCA World”

          เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การประยุกต์ใช้โครงการหลวงโมเดลในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์วูก้าเวิลด์ ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดสมัยที่ 66  ณ สาธารณออสเตรีย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ได้นำหลักสูตรเรียนรู้โครงการหลวง จำนวน 5 หลักสูตร ไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ

          การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ซึ่งมุ่งกลุ่มเรียนรู้จากนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศภูฏาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประเทศเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และประเทศไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2566 ในรูปแบบการบรรยาย อภิปราย และการศึกษาดูงานในพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการแม่แฮ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 

          โครงการหลวงโมเดล เป็นการพัฒนาจากจุดเล็ก ๆ สู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ จากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 50 ปีเพื่อแก้ปัญหาความยากจนจากการปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานจะ สืบสาน รักษา และต่อยอด โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากพื้นที่พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ไปสู่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง และต่อยอดในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ แนวทางของโครงการหลวงยังสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model ของประเทศไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติ

          จากสถาณการณ์หลังการระบาดใหญ่ของ COVID-19 สงครามในยุโรป ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้โลกต้องตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าวูก้า ( VUCA)  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และ ความคลุมเครือ จากสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ทุกคนจะต้องร่วมกันระดมความคิด เพื่อเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว

          กิจกรรมกรอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ มุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อเป็นรูปแบบการปฎิบัติงานที่ดี (Best Practice) พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งจากนักวิจัย นักส่งเสริมในสาขาต่าง ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มาเล่าประสบการณ์ของการพลิกฟื้นพื้นที่สูงจากระบบเกษตรเดิมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม มาสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงจากการทำไร่หมุนเวียน มาเป็นการปลูกพืชเขตหนาวที่สร้างอาชีพบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม