รับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566

สวพส.รับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0

ประจำปี 2566

          เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และนางสาวทินรัตน์ พิทักษ์พงศ์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านบริหารจัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร สวพส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0 ประจำปี 2566 ผ่านระบบ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ รศ.ดร.พัชรี สิโรรส และรศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ เป็นคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐในครั้งนี้

         นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่ ได้นำเสนอการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนบนพื้นที่สูง ปัญหาความยากจน การขาดองค์ความรู้ การเข้าถึงบริการภาครัฐ การจัดการน้ำ พัฒนาป่า ด้วยรูปแบบการนำองค์ความรู้โครงการหลวงที่ประสบผลสำเร็จไปขยายต่อเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ โดยการพัฒนาที่เน้นไปที่เกษตรกรผู้นำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เน้นพัฒนาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและรวดเร็ว เริ่มจากการจัดทำแผนที่ดินรายแปลง โดยแบ่งพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าให้ชัดเจน ร่วมกันวางแผนจากปัญหาชุมชนร่วมกับหน่วยงานบูรณาการต่าง ๆ ตามหน้าที่รับผิดชอบ นำพืชที่เหมาะสมและสามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ ลดการเผาและการใช้สารเคมี ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นให้พืชและระบบที่ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพืชที่ใช้พื้นที่มาก ปัจจุบัน สวพส.พัฒนาพื้นที่มีผลงานความโดดเด่น สะท้อนแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางของการพัฒนาในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในระดับพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อันแสดงถึงผลสัมฤทธิ์ที่สร้างคุณค่าแก่ประชาชน สอดคล้องนโยบายภาครัฐและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำใส อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยโทน อำเภอบ่อเกลือ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม จังหวัดน่าน และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้และสามารถเข้าศึกษาดูงานได้ นอกจากนี้ สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง จัดทำหลักสูตรการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ทั้งหลักสูตรสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหลักสูตรในระดับนานาชาติ อีกด้วย