สวพส. โชว์ผลงาน “เกษตรอินทรีย์ แก้จน คนต้นน้ำ”

สวพส.นำเสนอผลงานที่ผ่านเกณฑ์ประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประเภทร่วมใจแก้จน “เกษตรอินทรีย์ แก้จน คนต้นน้ำ” ประจำปี 2566

ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน (Site visit) บ้านนุชเทียน ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

          เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน (Collaboration towards Poverty Eradication) จัดขึ้นโดย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ลงพื้นที่ตรวจประเมินผลงาน “เกษตรอินทรีย์ แก้จน คนต้นน้ำ”โดยการดำเนินของโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ณ บ้านนุชเทียน ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

          ในการนี้ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ผู้แทนหน่วยงานร่วมบูรณาการ ผู้นำชุมชน และเกษตรกร ได้ร่วมกันนำเสนอรูปแบบการแก้จนด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์  โดยใช้ตัวอย่างบ้านนุชเทียน ลุ่มน้ำภาค เป็นตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่สูงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำการในพื้นที่ แต่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยงานร่วมบูรณการ รวมทั้งนำคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรผู้นำ และอาคารรวบรวมผลผลิต เพื่อสะท้อนผลสำเร็จของการดำเนินงาน

          นายวิธิวัต มันกระโทก นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา เล่าให้ฟังว่า จากปัญหาการบุกรุกพื้นที่ การใช้สารเคมี ความยากจน การขาดความรู้ที่ถูกต้องในการทำการเกษตร สวพส.จึงเข้ามาดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานบูรนาการในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้แก้ปัญหาความยากจนบนพื้นที่สูง โดยส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ เช่น ผัก และกาแฟ ซึ่งเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดพลังในการทำงาน และมีปริมาณผลิตผลที่เพียงพอและคุ้มค่ากับการส่งมอบให้กับลูกค้า จึงก่อเกิดวิสาหกิจชุมชนมากมาย เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค  กลุ่มผู้ผลิตกาแฟอินทรีย์อมก๋อย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เพื่อให้มีผลิตผลเพียงพอ โดยใช้แผนความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยจะมีการกระจายแผนการผลิต (ชนิดพืชและปริมาณ) ไปยังกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ รวมถึงการวางแผนการขนส่งร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและ ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้มากที่สุด

          ปัจจุบันมีเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้รับการรับรองแหล่งผลิตมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (Organic Thailand) จำนวน 452 คน พื้นที่รวม 1,441.702 ไร่ ในพื้นที่ที่ สวพส. ดำเนินงาน ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 19 แห่ง และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน 2 แห่ง ใน 8 จังหวัด โดยเกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์บางครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 280,000 บาทต่อปี เมื่อเทียบกับการ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายได้ 70,000-80,000 บาท/ปี

          นอกเหนือจากความมั่นคงด้านรายได้ที่เกษตรกรได้รับแล้ว การปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ลดผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดินและน้ำ จากการใช้สารเคมี เกษตรกรเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน ลดปัญหาด้านสุขภาพของเกษตรกร และสร้างคุณค่าให้แก่เกษตรกรผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม