สวพส. ร่วมงาน ครบรอบ 131 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อ่าน: 504 ครั้ง

สวพส. ร่วมงาน ครบรอบ 131 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ธีม MOAC Digital Transformation

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งสู่บริการภาครัฐดิจิทัลเพื่อเกษตรกร”

          วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เข้าร่วมงานจัดนิทรรศการงานพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ในงานวันสถาปนา ครบรอบ 131 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ธีม MOAC Digital Transformation “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งสู่บริการภาครัฐดิจิทัลเพื่อเกษตรกร” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ บริเวณด้านหน้าอาคาร 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก

          ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ในปีที่ผ่านมาและการก้าวเข้าสู่ปีที่ 132 ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 เพื่อมุ่งสู่บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชน ด้วยการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนำมาขยายผลให้ใช้ได้จริง คิดต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับภาคการเกษตรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า สอดรับเป็นอย่างดีกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

 

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำเสนอนิทรรศการการพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวงโดยการนำเทคโนโลยี ระบบ smart farmมาประยุกต์ใช้บนพื้นที่สูงให้เหมาะสมกับภูมิปัญญาของเกษตรกรและบริบทของพื้นที่ ด้วยระบบโรงเรือนเพาะปลูกพืชอย่างง่าย การให้น้ำและการให้ปุ๋ยด้วยระบบอัตโนมัติที่แม่นที่ได้จากองค์ความรู้ทคโนโลยีจากงานวิจัย ผ่านมือถือ Smart Phone

          ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานของสวพส.เน้นการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นที่ฐานที่เป็น วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ ด้วยการบูรณาการกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยนำรูปแบบของโครงการหลวงโมเดลเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูง ปัจจุบันสวพส.ได้ดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่สูงและจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง ครอบคลุมดูแลพื้นที่ 616 กลุ่มบ้าน ใน 8 จังหวัด และขยายองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาสู่โครงการักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน 11 แห่ง และถ่ายทอดองค์ความรู้งานโครงการหลวงสู่เกษตรกรในพื้นที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” หรือ (ศศช.) กว่า 795 แห่ง โดยสวพส.ได้นำองค์ความรู้จากโครงการหลวงไปช่วยแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูงต่าง ๆ

ด้านเศรษฐกิจ : การปลูกผักในโรงเรือน ใช้พื้นที่น้อย ได้ผลตอบแทนสูง ปลูกพืชที่มีระยะการปลูกสั้น สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เร็ว มีตลาดรองรับชัดเจน

ด้านสิ่งแวดล้อม : ช่วยลดการใช้พื้นที่ทำการเกษตร ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกไม้ผลเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และจัดกิจกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกในการดูแลผืนป่า เพิ่มการกักเก็บคาร์บอน สอดคล้องเป้าหมายของประเทศ และ SDGs รวมถึงลดการใช้สารเคมีเป็นส่วนช่วยในการรักษาแหล่งต้นน้ำ

ด้านสังคม : เพิ่มการเข้าถึงองค์ความรู้ การประยุกต์ใช้เทศโนโลยี ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเกษตรกรที่ห่างไกล พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง และสถาบันเกษตรกร

 

 

          ปัจจุบันด้วยประชากรบนพื้นที่สูงในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก สวพส.จึงได้พัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนต้นแบบ รวมถึงหลักสูตรนักพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาให้กับหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผลงานพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จและได้รับการการันตีด้วยรางวัลเลิศรัฐว่าสามารถใช้แก้ไขปัญาหาได้จริง อาทิ

  • รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ระดับ ก้าวหน้า
  • รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดี ผลงาน "แผนที่ดินรายแปลง" เข็มทิศแห่งความยั่งยืน
  • รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ผลงาน ร่วมมือสร้างรายได้ ร่วมแรงใจให้ท้องอิ่ม สร้างรอยยิ้มชาวห้วยโทน
  • รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (นายแผง ใจปิง) ระดับดีเด่น ผลงาน ร่วมมือสร้างรายได้ ร่วแรงใจให้ท้องอิ่ม สร้างรอยยิ้มชาวห้วยโทน
  • รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล ระดับดีเด่น ผลงาน เลื่องลือขยายงาน บ้านปางแดงใน ต้นแบบต่อยอด Towards SDGs
  • รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม : ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ผลงาน สลัดความจน ด้วยกลยุทธ์ทางเลือก
  • รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ผลงาน จากต้นสู่แก้ว กาแฟดอยแม่สลองกับการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
  • รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ผลงาน พัฒนาอาชีพแก้จน ลดเขาหัวโล้นเมืองน่าน

 

3 เมษายน 2566

ข่าวสาร / กิจกรรม สวพส. ล่าสุด