ลงพื้นที่ขับเคลื่อนงานสู่วิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง

อ่าน: 824 ครั้ง

ประธานกรรมการ สวพส. นำคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และที่ปรึกษาคณะกรรมการ

ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน

          วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นำคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และที่ปรึกษาคณะกรรมการ นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม และบ้านศรีบุญเรือง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

          คณะได้รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่จังหวัด โดยมีนายชวลิตร สุทธเขตต์ รักษาการแทนหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่มที่ 3 (น่าน) โดยในจังหวัดน่าน สวพส.ได้เข้ามาดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพด การทำไร่เลื่อนลอย การแก้ปัญหาสารเคมี และการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ ปัจจุบัน สวสพ. จัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สุงแบบโครงการหลวงในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 11 พื้นที่ 9 อำเภอ และดำเนินการนำองค์ความรู้โครงการหลวงมาขยายต่อเพื่อแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูง ด้วยการทำการเกษตรที่ถูกต้อง ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

          นายมนัส  กุณนา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นสูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นสูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ด้วยการดำเนินงานตามหลักโครงการหลวง แก้ไขปัญหาชุมชนให้ตรงจุด ร่วมทำแผนชุมชน ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับหน่วยงานบูรณาการในพื้นที่ แก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพด การใช้สารเคมี พัฒนาระบบน้ำและโครงสร้างพื้นที่ สร้างระบบการบริหารจัดการกลุ่ม ใช้ตลาดนำการผลิต พัฒนากลุ่มสถาบันเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพ สร้างความร่วมกับเครือข่ายภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยหลักการทำงานแบบโครงการหลวง ส่งผลให้ปัจจุบันชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริมเป็นกลุ่มผู้ผลิตพืชผักปลอดภัยภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ และ GAP รายใหญ่ของจังหวัดน่าน ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ของโครงการยังเป็นที่ประจักษ์ทำให้ได้รับรางวัลเลิศรัฐจากรัฐบาล ในเรื่อง แม่จริม ชุมชนลดการเผาด้วยวิถีเกษตรตามแนวทางโครงการหลวง  และเลื่องลือขยายผลปางแดงใน ต่อมาคณะได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรตัวอย่าง จำนวน 2 รายที่ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิม สู่การปรับรับบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งวดล้อม และการพัฒนาระบบโรงเรือนปลูกผักด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบ IOT มาร่วมในการดูแลและจัดการรับบเพาะปลูกผักในโรงเรือน

          ทั้งนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และที่ปรึกษาคณะกรรมการ ได้ให้ข้อเสนอแนะในด้านการร่วมบูรณาการกับแผนงานจังหวัดในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่ และให้ สวพส. เป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ดิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตามแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 19 โครงการพัฒนาป่าไม้พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จังหวัดน่าน กับหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัดและภูมิภาค

          ต่อมาคณะได้เดินทางไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของบ้านศรีบุญเรือง ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงโครงการหลวงโป่งคำ ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero waste) ก้าวสู่การเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องการบริหารจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน โดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการขยะในชุมชน เพราะมีแผนการจัดการขยะที่ชัดเจน จนกระทั่งชุมชนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดขยะภายในปี 2565 โดยนางสุพรรณ บูรณะเทศ ผู้ใหญ่บ้านศรีบุญเรือง เล่าว่า ชุมชนมีการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยเริ่มจากแผนชุมชม มีการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน และขับเคลื่อนร่วมกันโดยกำหนดเป้าหมายชัดเจน คือการจัดการขยะในชุมชน โดยแบ่งเป็นระยะการดำเนินงาน ดังนี้

          ระยะที่ 1 ปี 2558-2559 กระตุ้นตื่นรู้สู้ปัญหาขยะล้นบ้าน

          ระยะที่ 2 ปี 2560-2561 ผสานพลังชุมชน รณรงค์สู้ปัญหาขยะ

          ระยะที่ 3 ปี 2562-2563 เดินหน้าสู่ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste Community)

          ระยะที่ 4 ปี 2564-2565 เป็นชุมชนปลอดขยะ

          นอกจากนี้ สวพส.ยังนำองค์ความรู้เรื่องการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดถ่ายทอดให้แก่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาซังข้าวโพดในพื้นที่ อีกทั้งให้การส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของชุมชนในการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน พัฒนาศักยภาพในตัวสมาชิกกลุ่ม เสริมทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ให้กับสมาชิก จนกระทั่งมีตราสินค้าของผลิตภัณฑ์ ถ่านอัดแท่งศรีบุญเรืองซึ่งได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมทั้งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ถ่านอัดแท่งนำมาใช้ดูดกลิ่นให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน และได้ใบรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง ทุกวันนี้ชุมชนบ้านศรีบุญเรืองกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะในชุมชน มีชุมชนจากจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศมาศึกษาดูงานเพื่อนำกลับพัฒนาชุมชนในพื้นที่ของตนเองเป็นจำนวนมาก

23 มีนาคม 2566

ข่าวสาร / กิจกรรม สวพส. ล่าสุด