วกส. รุ่น 3 เรียนรู้งานพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการ
"วกส." รุ่น 3 เรียนรู้งานพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการ
คณะผู้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 3 นำโดย มูลนิธิเกษตราธิการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กว่า 120 ท่าน เข้าเรียนรู้งานพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางการพัฒนารูปแบบโครงการหลวงโมเดล ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาความยากจน และสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้ให้เกียรติบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “การดำเนินงานของโครงการหลวง เพื่อการพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน” ซึ่งโครงการหลวงได้น้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของคนบนพื้นที่สูง นำร่องการแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูง เป็นต้นแบบการดำเนินงานให้แก่รัฐบาล สืบสาน รักษา และต่อยอดมาตลอดระยะเวลา 54 ปี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom แก่คณะผู้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 3 ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 1 ได้บรรยายงานพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง โดยต่อยอดจากมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างคนดูแลป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ด้วยรูปแบบการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงที่ประสบความสำเร็จนำไปขยายต่อในพื้นที่สูงอื่น ๆ ในพื้นที่ดำเนินงาน ของ สวพส. ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ซึ่งได้ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงในชุมชนกว่า 616 หมู่บ้าน ส่งเสริมและพัฒนาครบทุกมิติ ทั้งด้านอาชีพ สังคม สิ่งแวดล้อมล้อม และโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็น โดย สวพส.ร่วมมือพัฒนาชุมชนกับหน่วยงานบูรณาการกว่า 30 หน่วยงาน ทั้งนี้ สวพส.ยังเน้นพัฒนาและขยายองค์ความรู้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสู่ผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านหลักสูตรนักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง หรือ นพส. ซึ่งในเดือนมีนาคม 2566 นี้ จะจัดเป็นรุ่นที่ 2 เพื่อให้หน่วยงานและผู้นำชุมชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาพื้นที่สูงของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนบนพื้นที่สูงภายใต้หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง
หลังจากนั้น คณะผู้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 3 ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการของ สวพส. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบนพื้นที่สูงด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีจากงานวิจัย และมีการถ่ายทอดผลงานวิจัย อาทิ กาแฟอะราบิกาสายพันธ์ใหม่โครงการหลวง สายพันธุ์ RPF-C3 จากแหล่งพันธุ์อ่างขาง และ RPF-C4 จากแหล่งพันธุ์อินทนนท์ เป็นสายพันธุ์กาแฟคาติมอร์ ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร คุณลักษณะเด่น คือ ทนทานต่อโรคราสนิม ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร การปลูกผักอินทรีย์บนพื้นที่สูง ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์จากพืชท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้าน เห็ดพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยสำหรับใช้ทดแทนสารเคมี การใช้ชีวภัณฑ์/สารชีวภาพ และฟีโรโมนสำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชผลจากงานวิจัย ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร เพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเคมี และเพิ่มความเชื่อมั่นในการบริโภคผลิตผลที่มีคุณภาพ และผลงานวิจัยและพัฒนากัญชง การใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงเพื่อผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นอาหาร และเวชสำอาง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีอนาคต และปัจจุบันเกษตรกรยังสามารถปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชง ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย