“เปลี่ยนป่าข้าวโพด สู่ภูเขาสีเขียว” หมู่บ้านต้นแบบลดหมอกควัน

“เปลี่ยนป่าข้าวโพด สู่ภูเขาสีเขียว” หมู่บ้านต้นแบบลดหมอกควัน “ปางแดงใน”

          ชุมชนปางแดงใน หมู่ 9 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเป็นชนเผ่า ดาราอั้ง หรือ ปะหล่อง อดีตได้ลี้ภัยสงครามมาจากประเทศพม่า ย้ายถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพบริเวณบ้านปางแดงใน ตั้งแต่ปี 2527 ด้วยการขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ ขาดปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ ขาดองค์ความรู้ที่เหมาะสมที่จะใช้ในประกอบอาชีพ ชาวบ้านจึงปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก โดยทำพันธะสัญญากับนายทุน ส่งผลให้ชาวบ้านจึงเริ่มมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และเผาต้นข้าวโพดเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูก ชาวบ้านมีหนี้สินสะสมจากการทำสินเชื่อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมีจากนายทุนเพื่อมาลงทุน รวมถึงการเชื่อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ในปี 2549 บ้านปางแดงในมีพื้นที่ทำการเกษตรรวม 907.79 ไร่ ซึ่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 100% และมีภาวะหนี้สินนอกระบบทั้งชุมชนรวมสูงถึง 3,142,200 บาท

 

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในพื้นที่บ้านปางแดงใน ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินของชาวบ้าน โดยการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวง และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยปรับวิธีการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว และจัดทำแผนที่ดินรายแปลงร่วมกับการปรับระบบเกษตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร จากพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในปี 2549 จำนวน 907.79 ไร่ รวม 164 แปลง เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชทางเลือกใหม่ รวม 816 ไร่ คิดเป็น 89.89% และเหลือพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียง 97.79 ไร่ คิดเป็น 10.11% สร้างผลตอบแทนให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2564 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการปรับระบบการปลูกพืชรวม 85.87 ล้านบาท และสามารถปลดหนี้สินนอกระบบทั้งหมดของทุกครัวเรือนได้ในปี 2555 นอกจากนี้การปรับระบบการเกษตร ทำให้ชุมชนบ้านปางแดงในไม่มีปัญหาการเผา 100% โดยได้รางวัล “ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา” จากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2555 ปัจจุบันชุมชนบ้านปางแดงในเป็นแหล่งเรียนรู้การปรับระบบการปลูกพืชที่ยั่งยืน โดยชุมชนมีเกษตรกรผู้นำรวม 15 ราย ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนากับ สวพส. รวมถึงการเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ มีแปลงเรียนรู้การปรับระบบการปลูกพืชของเกษตรกร

          ทั้งนี้ บ้านปางแดงใน ได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 ชื่อผลงาน เลื่องลือขยายงาน บ้านปางแดงใน ต้นแบบต่อยอด Towards SDGs

          และมีการนำต้นแบบการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยปรับวิธีการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว และการส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้จากโครงการหลวง ไปขยายและเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สูงอื่น ๆ ทั้งหมู่บ้านเครือข่ายโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน 4 ชุมชน ได้แก่ บ้านแม่จอน บ้านท่าขี้เหล็ก บ้านห้วยปง และบ้านผาลาย รวมถึงบ้านแม่สายนาเลา พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน

     

          นอกจากนี้การนำรูปแบบการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการมีมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อป้องการบุกรุกป่าเพิ่ม จำกัดพื้นที่การทำการเกษตรในขอบเขตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมกับการใช้ข้อมูลสารสนเทศ จากแผนที่ดินรายแปลง ในการวางแผนการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมกับกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ทำฝายชะลอน้ำและจัดทำแนวกันไฟรอบแนวเขตป่าและชุมชน ร่วมมือกับสถานีพัฒนาที่ดินที่ให้การสนับสนุนการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยทำแนวคันคูรับน้ำรอบขอบเขา (Contour) การปลูกหญ้าแฝก รวมถึงการสนับสนุนกล้าไม้ผลยืนต้นให้กับเกษตรกร สามารถลดการเผา และแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

          “ทั้งนี้ บ้านปางแดงใน ได้กลายเป็นชุมชนต้นแบบที่มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงานทั้งในประเทศ และนานาชาติอีกด้วย”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม