ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตไม้ผลบนพื้นที่สูง

อ่าน: 817 ครั้ง

ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตไม้ผลบนพื้นที่สูงจากงานวิจัยเพื่อเพิ่มองค์ความรู้แก่เกษตรกร

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดย โครงการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเรียนรู้การปลูกไม้ผล สำนักพัฒนา ร่วมกับโครงการทดสอบพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบประณีตสำหรับไม้ผลเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง สำนักวิจัย จัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มองค์ความรู้แก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สวพส. มีแนวทางในการพัฒนาการผลิตไม้ผลบนพื้นที่สูงร่วมกัน โดยมองภาพเป้าหมายของการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนมีความสุขจากการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการวิจัย และการพัฒนาการปลูกไม้ผลบนพื้นที่สูง มีการพัฒนาขึ้นอย่างหลากหลาย และรวดเร็ว ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสังเคราะห์องค์ความรู้ระหว่างผู้รู้ นักวิชาการ นักส่งเสริม นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องจะเกิดประโยชน์ต่อการเกษตรและการพัฒนาการปลูกไม้ผลบนพื้นที่สูงของประเทศไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังมีโอกาสสูงมากในการพัฒนาพันธุ์และวิธีการผลิตไม้ผลบนพื้นที่สูงของไทย และในทางกลับกันเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันด้านการตลาด จากการนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศที่กำลังขยายตัว ดังนั้นกิจกรรมในครั้งนี้ จึงเป็นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไม้ผล เพื่อให้เข้าใจแนวทางการพัฒนาการผลิตไม้ผล ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การพัฒนาการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทคุณภาพ ตลอดจนจะได้เสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกไม้ผลร่วมกัน

          ภายในกิจกรรมมีการบรรยายพิเศษ จาก นางสาวธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล นักวิจัย สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เรื่อง การจัดการศัตรูแบบผสมผสานและการใช้สารชีวภัณฑ์ โดยการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management (IPM) คือ การเลือกวิธีการควบคุมศัตรูพืชที่มีอยู่อย่างรอบคอบ นำมาใช้ผสมผสานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชให้ลดลงในระดับที่ไม่เกิดความเสียหายต่อพืช (Economic Threshold) เน้นความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อคนและรบกวนระบบนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และได้แนะนำวิธีการคัดเลือกใช้สารชีวภัณฑ์จากโครงการหลวงที่เหมาะสมต่อศัตรูพืชและไม้ผล จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มชีวภัณฑ์กำจัดแมลง (พีพี-เมทา พีพี-เบ็บ พีพี - ฟีโร 3 สูตร (หนอนใยผัก ด้วงหมัดผัก แมลงวันแตง) สบู่อ่อน น้ำหมักชีวภาพ 4 สูตร และกลุ่มชีวภัณฑ์ป้องกันโรคพืช (พีพี-บี 10 พีพี-บี 15 พีพี-สเตร็บโต  พีพี-ไตรโค พีพี-บีเค33) พร้อมทั้งได้แนะนำโปรแกรมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในการปลูกเสาวรสบนพื้นที่สูง และตัวอย่าง application ใช้ในระบบสมาร์ทโฟน เพื่อจำแนกชนิดของศัตรูพืชและวิธีการป้องกันกำจัดเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ให้แนะนำกับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

          และการบรรยายให้ความรู้ จาก นางสาวปัณชพัฒน์ แจ่มเกิด นักวิจัย สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เรื่อง การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทคุณภาพและเทคนิคการผลิตองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทไร้เมล็ด โดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชให้ถูกต้องและเหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของช่อดอกและช่อผลองุ่น และปลูกภายใต้ระบบการปลูกองุ่นแบบโครงการหลวงที่จัดการง่าย ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ และลดการใช้สารเคมี

10 มกราคม 2566

ข่าวสาร / กิจกรรม สวพส. ล่าสุด