ติดตามผลการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยงานวิจัย

อ่าน: 840 ครั้ง

ติดตามผลการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยงานวิจัย

          วันที่ 7-8 มกราคม 2566 นายวิรัตน์  ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ นักวิจัยและนักพัฒนาของ สวพส. ให้การต้อนรับ คณะจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการการติดตามผลการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยงานวิจัย ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

          ในการนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้นำเสนอภาพรวมแนวทางการดำเนินงานวิจัยและงานพัฒนา ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมทั้งลงพื้นที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เพื่อดูกิจกรรมและความเชื่อมโยงการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จากนั้นชมแปลงทดสอบปลูกกุหลาบสายพันธุ์จากประเทศฮอนแลนด์ เช่น Candy Avalanche และ Red Crown  การปลูกกุหลาบโดยใช้วัสดุปลูกจากส่วนผสมของขุยมะพร้าว แกลบ และ ทราย และเทคนิคการตัดแต่งกิ่ง การควบคุมอุณหภูมิและแสงแดดเพื่อกระตุ้นการแตกกิ่งและสร้างดอก ชมการคัดเกรดดอกและแพกบรรจุดอกกุหลาบที่ได้จากการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อส่งไปจำหน่ายในร้านค้าโครงการหลวง ชมแปลงทดสอบการปลูกกัญชง ที่เน้นวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถปลูกได้ในสภาพที่ราบและอุณภูมิสูงขึ้น มีต้นทุนโรงเรือนต่ำ โดยให้ปลูกได้ในโรงเรือนปกติ ที่มีคุณภาพและมีเปอเซนต์เส้นใยสูง นำไปใช้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใยคุณภาพป้อนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอ

          จากนั้น ได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามบริบทพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ โดยเยี่ยมชมแปลงปลูกไม้ผลของนายสว่าง ปินคำ พื้นที่เกษตร 25.5 ไร่และมีแหล่งน้ำสำรองเป็นบ่อพวงขนาดเล็ก ทำให้มีรายได้จากการปลูกพืชระยะสั้นจากการปลูกข้าวโพดและผัก ระยะกลาง จากการปลูกเสาวรส  และระยะยาวจากการปลูกไม้ผล ได้แก่  มะขามยักษ์ มะม่วง อะโวคาโด และไผ่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดรายได้ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและลดการใช้สารเคมี และเยี่ยมชมแปลงปลูกผักอินทรีย์ของนายสุวิท สมวถา ที่ใช้พื้นที่โรงเรือนปลูกผักอินทรีย์ ขนาดโรงเรือน 6x24 เมตร จำนวน 10 โรงเรือน สร้างรายได้ในพื้นที่จำกัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ในตอนท้าย ได้เดินทางไปเยี่ยมชม ผลการดำเนินงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามบริบทพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน ได้แก่ ชมแปลงทดสอบปลูกองุ่นสายพันธุ์ญี่ปุ่นในโรงเรือนออกแบบทรงต้นให้เก็บและดูแลง่าย ทดสอบวิธีการชะลอ/ลดการเจริญเติบโตของยอดกระตุ้นให้ออกผลตามช่วงเวลาที่ต้องการโดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีความต้องการบริโภคสูง และแปลงทดสอบปลูกเครปกู๊ดเบอรี่ สายพันธุ์ต่างประเทศ ชมโรงเรือนอัจฉริยะ ปลูกมะเขือเทศโทมัส การควบคุมการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความชื้น แก้ปัญหาแสงน้อยช่วงฤดูฝน ดูงานในแปลงเรียนรู้การปลูกอาโวคาโดของนางรุ่งฤดี เกิดอาชาชาญ พื้นที่ปลูก 3 ไร่ ที่ควบคุมคุณภาพการเก็บเกี่ยวด้วยการนับอายุผลผลิตจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 175,000 บาท/ปี และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงผึ้งให้ช่วยผสมเกสรอาโวคาโด ชมแปลงสาธิตการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกผักอินทรีย์ของนางสาวแสงหล้า ชุมพรวิริยะกุล ทำให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนทุก 27 วัน ทดแทนการปลูกข้าวโพด และดูงานที่โรงคัดบรรจุ ดูกิจกรรมการทำงานของกลุ่มเกษตรผู้ปลูกผักอินทรีย์ ได้แก่ ผักกะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลีที่นำผลผลิตมาตัดแต่งและบรรจุภัณฑ์ก่อนส่งให้ลูกค้า และการนำวัสดุเหลือทิ้งไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงหมูและปลา

9 มกราคม 2566

ข่าวสาร / กิจกรรม สวพส. ล่าสุด