สวพส.รับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ประเภทเลื่องลือขยายผล
สวพส.รับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล
(Participation Expanded) โดย โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน ประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2565 นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร สวพส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับการตรวจประเมินในพื้นที่ของหน่วยงานที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ผลงาน “เลื่องลือขยายงาน บ้านปางแดงใน ต้นแบบต่อยอด Towards SDGs.” โดย โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมี นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย นางฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล และนายสุวิทย์ อมรนพรัตนกุล เป็นคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐในครั้งนี้
โดยคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ณ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ได้มีการขยายผล/ต่อยอด ณ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งได้รับชมวีดีทัศน์และรับฟังการบรรยายสรุปผลงาน และการรับชมบรรยากาศจากจุดต่างๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) จากพื้นที่ที่ได้มีการขยายผล/ต่อยอดอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ทั้งนี้ ได้มีหน่วยงานร่วมบูรณาการในพื้นที่เข้าร่วมประชุมพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติที่เกิดผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่กว่า 10 หน่วยงาน ซึ่งผลการตรวจประเมินดังกล่าวจะได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินรางวัลต่อไป
การนำรูปแบบของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงไปขยายผล/ต่อยอด โดยการนำต้นแบบการปรับระบบการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยปรับวิธีการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว การส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้จากโครงการหลวง การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อป้องการบุกรุกป่าเพิ่ม จำกัดพื้นที่การทำการเกษตรในขอบเขตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมกับการใช้ข้อมูลสารสนเทศ จากแผนที่ดินรายแปลง ในการวางแผนการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปขยายและเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูงอื่น ๆ ที่มีบริบทและปัญหาคล้ายกับชุมชนบ้านปางแดงในส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับการขยายผลไปมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลง มีพื้นที่สีเขียวจากการปลูกไม้ผล มีการคืนพื้นที่ป่าให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช และมีรายได้จากการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ถือว่าเป็นรางวัลระดับสูงสุดของการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมทุกประเภทที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐ ที่นำต้นแบบ (Best Practice) โครงการหรือผลงานที่เคยได้รับรางวัลไปขยายผลหรือต่อยอดการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ หรือต่อยอดจากผลงานเดิม แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบสูง (High Impact) และเกิดประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กลุ่มเป้าหมาย หรือประชาชนในพื้นที่ที่ขยายผลหรือต่อยอดเช่นเดียวกับผลงานต้นแบบ