ประชุมคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการพื้นที่โครงการหลวงและสวพส.

การประชุมคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงระยะ 5 ปี

(พ.ศ. 2566 – 2570) ครั้งที่ 2/2564

          วันที่ 30 มิถุนายน 2564 องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ครั้งที่ 2/2564 ในรูปแบบการประชุมทางไกล

          โดยมีคณะที่ปรึกษาการจัดทำแผนปฏิบัติการเข้าร่วมให้ความคิดเห็น ได้แก่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ เลขานุการมูลนิธิโครงการหลวง รวมทั้งผู้แทนกระทรวง กรมที่เกี่ยวข้อง อีกกว่า 30 หน่วยงาน

          โอกาสนี้ องคมนตรี ประธานคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการฯ กล่าวสรุปแก่ที่ประชุมว่า มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ที่เรียกว่า “สถานีเกษตรหลวง สถานีวิจัย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง” และพื้นที่ขยายผลการพัฒนาตามแบบโครงการหลวง ที่ดำเนินการโดย สวพส. ในชื่อ “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง” 44 แห่ง เพื่อเป็นกรอบบูรณาการการดำเนินงานสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยแผนปฏิบัติการนี้จะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2566 – 2570 เพื่อให้การดำเนินการสนับสนุนของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรรลุวิสัยทัศน์ของแผนฯ ที่ว่า “ชุมชนอยู่ดีมีสุข สู่ต้นแบบการพัฒนาทางเลือกตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสร้างคุณค่า การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

          โดยมีขอบเขตการปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่สูงใน 20 จังหวัด 1,084 กลุ่มบ้าน ประชากรได้รับประโยชน์ 463,428 คน และมีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ คือ เกษตรกรได้รับการแก้ปัญหาจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์, ครัวเรือนเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน, มีการกระจายการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพอย่างทั่วถึง, เกิดต้นแบบชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองตามมาตรฐานโครงการหลวงโมเดล, ชุมชนมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากการจัดการที่ดินถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ โดยการกำหนด 6 กลยุทธ์เพื่อการดำเนินการที่สอดคล้องกับพื้นที่ ครอบคลุมงานทุกด้านทั้ง การวิจัยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ, การส่งเสริมอาชีพอย่างทั่วถึง มีรายได้พอเพียงด้วยอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, การยกระดับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG, การยกระดับการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการเรียนรู้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น, การขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ และยกระดับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ด้วยการบูรณาการของทุกภาคส่วน รวมแผนงานทั้งสิ้น 26 แผน 73 โครงการ โดยคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานมีความเห็นพ้องกันว่า แผนปฏิบัติการนี้ควรมุ่งเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาด้านพลังงาน การเชื่อมโยงงานหัตถกรรมชนเผ่าโครงการหลวงกับโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง และพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการพัฒนาอาชีพ รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างถูกกฎหมาย ป้องกันปัญหายาเสพติด ส่งเสริมให้คนบนพื้นที่สูงรักถิ่นฐาน รักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และขยายการดูแลให้ครอบคลุมถึงราษฎรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของโครงการหลวง

          การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่สมดุลของราษฎรบนพื้นที่สูง ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากประโยชน์ในการสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว มีความรู้พยุงตัวได้แล้ว ผลอีกอย่างหนึ่งคือ การช่วยบ้านเมืองให้มีความอยู่ดีกินดี ปลอดภัย รวมทั้งช่วยรักษาป่าไม้ รักษาดิน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังสอดรับเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ เอสดีจี โกลด์ อีกด้วย

...........................................................................................................

ข้อมูลจาก : มูลนิธิโครงการหลวง

https://www.facebook.com/royalproject.pr

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม