สวพส. จัดปฐมนิเทศบุคลากรใหม่

สวพส. จัดปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ นำหลักการทำงานโครงการหลวงเพื่อพัฒนาพื้นที่สูง

 

 

                เมื่อวันที่ 22-23 มีนาคม 2564 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดปฐมนิเทศบุคลากร หลักการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง และการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่เริ่มงานใหม่ของสถาบันได้ทราบถึงนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานของสถาบัน เข้าใจในหลักการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง และหลักการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง

 

               กิจกรรมในครั้งนี้บุคลากรใหม่ได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากผู้บริหารของสถาบัน นำโดย ดร.ทินรัตน์ พิทักษ์พงศ์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันด้านการบริหารจัดการ ดร.อาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ นายสุรนันท์ ศรีวิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ สำนักอำนวยการ และได้รับเกียรติจาก ดร.อัญชัญ ชมภูพวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวงเชียงใหม่ บรรยายพิเศษเกี่ยวกับหลักการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง หลักการทำงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และหลักการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง การพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เพื่อให้เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ณ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมการปฐมนิเทศ ในครั้งนี้จำนวน 25 คน

 

               จากนั้นบุคลากรใหม่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่ประสบผลสำเร็จ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

               โดยช่วงเช้าได้รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วยและศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยนายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ หัวหน้ากลุ่มงานโครงกาพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง กลุ่ม 1 สำนักพัฒนา บรรยายสรุปการดำเนินงานว่าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย ตั้งอยู่ ณ บ้านป่ากล้วย ตั้งอยู่ที่หมู่ 14 ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ 8.28 ตร.กม. 5,178 ไร่ มีประชากร 949 ราย 143 ครัวเรือน โดยเป็นชนเผ่าม้ง ประกอบอาชีพทำการเกษตร 95% และอีก 5% ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย พืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรปลูกคือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี พริกหวานและอาโวกาโด เกษตรกรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มผลิตผลจนเกิดการสะสมและตกค้างของสารเคมีทั้งในผลผลิต แปลงปลูกพืช และแหล่งน้ำ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย เข้ามาดำเนินงานบ้านป่ากล้วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาและฟื้นฟูแหล่งป่าต้นน้ำลำธาร โดยนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงาน ปัจจุบันบ้านป่ากล้วยมีพื้นที่ปลูกกะหล่ำลดลง เกษตรกรหันมาปลูกพืชในโรงเรือน และพืชสร้างรายได้ เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ องุ่น อาโวคาโด และพลับ เป็นต้น ปัจจุบันเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในโรงเรือน ใช้พื้นที่น้อย เลือกพืชที่มีมูลค่า ปลูกพืชภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น ทำให้ลดต้นทุน เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น การเป็นอยู่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

 

               ช่วงบ่าย ได้รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อยและศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยนายทวีศักดิ์ ตุลาการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมผักศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อยบรรยายสรุปการดำเนินงานว่าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อยเริ่มเข้ามาดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2543 ด้วยชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน มีฐานะยากจน ขาดปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นแก่ชีวิต มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้เข้าไปส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยเน้นส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผลเขตหนาว และกาแฟอาราบิก้า ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนพื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้จัดทำแปลงทดสอบสาธิตการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ และส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืชภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ได้แก่ มาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการปลูกกาแฟและพืชสมุนไพร สร้างรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกร สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน การฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก รณรงค์การลดการใช้สารเคมีและเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ผลผลิตหลักของศูนย์ฯ ได้แก่ พริกหวานสีเขียว พริกหวานสีเหลือง พริกหวานสีแดง ฟักบัตเตอร์นัท มะเขือเทศเชอร์รีแดง ฟักทองสีส้ม กะหล่ำปลีหวาน กะหล่ำปลีรูปหัวใจ ถั่วแขก ผักกาดขาวปลี บัตเตอร์เฮด คอสสลัด โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง เจียวกู่หลาน พลับ P2 อาโวคาโด เสาวรสหวาน เคพกูสเบอร์รี และกาแฟ

 

 

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม