ปฐมนิเทศบุคลากรนำหลักการทำงานโครงการหลวงเพื่อพัฒนาพื้นที่สูง

          เมื่อวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2563 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดปฐมนิเทศบุคลากร หลักการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง และการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่เริ่มงานใหม่ของสถาบันได้ทราบถึงนโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน มีความรู้ความเข้าใจในหลักการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง หลักการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และระบบบริหารการปฏิบัติงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง

          กิจกรรมในครั้งนี้บุคลากรใหม่ได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากผู้บริหารของสถาบัน นำโดยดร.เพชรดา อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักวิจัย นายภูธาดล ธีรอธิยุต รองผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ นายสุรนันท์ ศรีวิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทรัยากรมนุษย์ สำนักอำนวยการ และได้รับเกียรติจากดร.อัญชัญ ชมภูพวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวงเชียงใหม่ บรรยายพิเศษถึงหลักการดำเนินงาน ด้านการวิจัยและพัฒนาของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และหลักการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และการพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมการปฐมนิเทศ ในครั้งนี้จำนวน 60 คน

          จากนั้นบุคลากรใหม่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่ประสบผลสำเร็จ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

          โดยช่วงเช้าได้รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน โดยนายดิเรก อินต๊ะฟองคำ ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่ม 1 (ลุ่มน้ำปิง-กลอง) สำนักพัฒนา บรรยายสรุปการดำเนินงานว่าเมื่อปี พ.ศ. 2549 มูลนิธิโครงการหลวงได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยสนับสนุนให้การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย(ปตท.) ดำเนินการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกหญ้าแฝกร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นตามโครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนางานโครงการหลวงและดำเนินการขยายผลโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่จะอยู่ได้อย่างดี ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความอดออม และการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกันเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือชนเผ่าปะหล่องในพื้นที่บ้านปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงในมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 5 กลุ่มบ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าปะหล่อง ลาหู่ ปกาเกอญอ อาข่า และลีซู ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีรายได้หลักจากการทำการเกษตร พืชที่ปลูกได้แก่ ข้าวโพด ถั่วนิ้วนางแดง ลำไย และมะม่วง และนายดิเรกยังให้แนวคิดในการทำงานว่า “งานพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงเป็นงานที่เหนื่อยและยากมากจริงๆ นอกจากจะมีความรู้และประสบการณ์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำงานด้วยใจ สิ่งที่เราจะได้กลับมาไม่ใช่แค่เงินเดือน แต่เป็นความสุขและรอยยิ้มอย่างจริงใจของผู้ที่เราได้เข้าไปช่วยเหลือ”

          ต่อมา นายประสงค์ แซ่เฒ่า เจ้าหน้าที่ประจำโครงการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงในได้นำเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรกรในพื้นที่การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน พร้อมสอบถามถึงการประกอบอาชีพ และการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้

          ช่วงบ่าย ได้รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก โดย นางสาวปิยะมล มีสกุล หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก บรรยายสรุปการดำเนินงานว่าเมื่อปี พ.ศ. 2522 ชาวเขาเผ่าม้งได้อพยพจากบ้านบ่อเหล็ก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไปอยู่ที่หมู่บ้านห้วยลึก เนื่องจากพื้นที่ทำกินเดิมไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกและได้ยื่นถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอพระราชทานที่ดินทำกิน และในปี พ.ศ. 2522 มูลนิธิโครงการหลวงได้เข้าไปช่วยเหลือชาวเขาในพื้นที่ โดยร่วมกับกรมป่าไม้แบ่งพื้นที่ในเขตป่าเสื่อมโทรม ให้เป็นแหล่งทำกินแก่ราษฎรชาวเขาหมู่บ้านห้วยลึก หลังจากนั้น จึงมีชาวเขาเผ่าม้งจากหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และจาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน อพยพเข้ามาสมทบ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2523 มูลนิธิโครงการหลวง ได้จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก เพื่อส่งเสริมด้านเกษตรกรรมแก่ชาวเขา โดยมีการส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืช จำนวน ๖ ชนิด ได้แก่ พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ผล ดอกไม้แห้งและพืชไร่ และด้านเลี้ยงสัตว์ จำนวน ๒ ชนิด ได้แก่ ไก่และหมู และเจ้าหน้าที่ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานหลักๆ ได้แก่ 1) โรงเพาะชำ 2)โรงคัดบรรจุ 3) ไม้ดอก และ 4) การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม