สวพส. ลงพื้นที่แม่สลอง สร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาบุคลากร

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ สำนักอำนวยการ จัดประชุมอนุกรรมการโครงสร้างและพัฒนาบุคลากร ครั้งที่ 2 ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2563  ณ  โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และศึกษาดูงานในพื้นที่การดำเนินงานของสถาบัน ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่บ้านดอยลาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นำระบบส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบฝึกอบรมและเยี่ยมเยียน (Training & Visit System: T&V System) ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลองมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยมีนายนนทิกร กาญจนะจิตรา ประธานอนุกรรมการโครงสร้างและพัฒนาบุคลากร พร้อมคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

          นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้แจ้งให้ทราบว่า การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับทราบข้อมูลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนความคิดเห็นด้านการบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล และการพัฒนาบุคลากร จากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของสถาบัน

          นายนนทิกร กาญจนะจิตรา ประธานอนุกรรมการฯ ได้ให้คำแนะนำว่า ภารกิจของสถาบันนั้นก็คือสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 1) งานวิจัย 2) งานส่งเสริมและขยายผล 3) งานพัฒนาเครือข่าย 4) งานพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และ 5) งานด้านการบริหารและพัฒนาองค์กร ดังนั้นแผนงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับภารกิจและแผนการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะ 8 ปี (พ.ศ.2563 - 2570) ของสถาบัน

          จากนั้น ประธานอนุกรรมการฯ ได้ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องการสำรวจองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่สถาบัน  และได้พิจารณาการปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2550 และหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพงานของตำแหน่งเจ้าหน้าที่สถาบัน (เจ้าหน้าที่ระดับ 6) อีกทั้งในที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะระหว่างคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน

          คณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ได้เข้าเยี่ยมชมแปลงเกษตรกร การบูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานเครือข่าย ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา พร้อมสอบถามถึงการประกอบอาชีพ และการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ โดยนายวิเชียร ทองอร่าม ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่ม 2 (ลุ่มน้ำกก-โขง) และนายประสิทธิ์ วงค์ผา เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา สำนักพัฒนา บรรยายสรุปการดำเนินงานว่า เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลาประกอบด้วยชนเผ่าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อาทิ อิ๊วเมี่ยน (เย้า) ลาหู่ และลีซู ปัญหาหลักของชุมชน คือ การบุกรุกพื้นที่ป่า ขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพ และมีการใช้สารเคมีในการเกษตรมาก คณะเจ้าหน้าที่ของสถาบันได้เข้าทำการสำรวจพื้นที่ถึงปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนา ต่อมามีมติเห็นชอบให้รับหมู่บ้านห้วยก้างปลาเป็นพื้นที่ดำเนินงานแบบพื้นที่เยี่ยมเยียน ในปี พ.ศ.2560 และยกขึ้นเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลาในปี พ.ศ.2561

          นายนิวัฒน์ คำมา นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง สำนักพัฒนา ได้นำคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรกรในพื้นที่การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง และบรรยายสรุปการดำเนินงานว่า โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลองประกอบด้วยชนเผ่าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อาทิ ไทย จีน อาข่า ลั้วะ อิ๊วเมี่ยน (เย้า) ลีซู ลาหู่ ม้ง และไทใหญ่ ปัญหาของชุมชนคือ การบุกรุกและแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตร ดินเสื่อมโทรม การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรปริมาณมาก ไม่มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยคณะเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้เดินทางเข้าสำรวจพื้นที่และได้เริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง ในปี พ.ศ. 2553 โดยศักยภาพของพื้นที่ คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งปลูกและผลิตใบชาอบแห้งคุณภาพดี และเป็นแหล่งผลิตผลไม้และพืชผักเมืองหนาวหลายชนิด

          และคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของเกษตรกรกลุ่มกาแฟ และกลุ่มไม้ดอก ณ พื้นที่บ้านดอยลาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบบส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบฝึกอบรมและเยี่ยมเยียน (Training & Visit System: T&V System) ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง พร้อมสอบถามถึงการประกอบอาชีพ และการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม