เรื่องเล่าจากบ้านห้วยเป้า “การบริหารจัดการน้ำ” สู้ภัยแล้ง

          หากคาดการณ์ตามรายงานข่าวล่าสุด ปี 2563 นี้ ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน

          จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศก็ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 447 แห่ง รวม 49,078 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 60,141 ล้าน ลบ.ม. หรือหายไปเกือบ 20,000 ล้าน ลบ.ม. (ที่มา กรมชลประทาน)

          ภัยแล้งจะมาเร็วและยาวนานกว่าทุกปี แหล่งน้ำในบางพื้นที่อาจต้องเจอกับวิกฤตระดับน้ำที่ลดลงต่ำกว่าครึ่ง เกษตรกรจึงเป็นอาชีพที่จะได้รับผลกระทบจากรายงานข่าวนี้มากที่สุด เพราะ ‘น้ำ’ เป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตร จะมีมากหรือมีน้อยก็ส่งผลโดยตรงต่อการทำเกษตรกรรมทั้งสิ้น ดังนั้น การ ‘บริหารจัดการน้ำ’ ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นวิธีการรับมือกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำครั้งนี้ที่ดีที่สุด

เรื่องเล่าจากบ้านห้วยเป้า “การบริหารจัดการน้ำ”สู้ภัยแล้ง

เรียบเรียงโดย :

นายอดิเรก  อินต๊ะฟองคำ  นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา 5

นายยุทธชัย   ทีปการพงศ์ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา 5

นางสาวสุธาสินี ชัยชนะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 5

นางสาวศศิธร  ธิรังษี  เจ้าหน้าที่โครงการ

นายสุทธิรักษ์  อุปนันท์  เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯห้วยเป้า

          #เรื่องเล่าจากบ้านห้วยเป้า EP.1 ชุมชนห้วยเป้าตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง และป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว เกษตรกรมีฐานะค่อนข้างยากจน ยังชีพด้วยการปลูกข้าวโพดในที่ดอน และปลูกผักในพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอนมีความลาดชันสูง แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรมีไม่เพียงพอ การเพาะปลูกต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงทำการเกษตรได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอและมีหนี้สิน

          #ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนในประเทศอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) ก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งนอกฤดู (ภัยแล้งช่วงหน้าฝน) ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และทำให้ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในภาคเหนือ กระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรแย่ลง การบริหารจัดการน้ำจึงมีความสำคัญและจำเป็น เพื่อให้พื้นที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน

          #โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า และเกษตรกรในพื้นที่ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้นำข้อมูลด้านกายภาพและข้อมูลอุตุนิยมวิทยาบนพื้นที่สูงมาใช้วิเคราะห์พื้นที่ ร่วมกับการประเมินน้ำต้นทุนในพื้นที่ พบว่าลำห้วยจะแว ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ส่วนฤดูแล้งน้ำในลำห้วยค่อนข้างน้อย กลุ่มผู้ใช้น้ำ จึงได้สร้างฝายภูมิปัญญาชาวบ้านและต่อท่อทำระบบกระจายน้ำเข้ามาใช้ในการเกษตร ติดตั้งจุดพักน้ำรวม 4 จุด และทำระบบส่งน้ำไปยังจุดกักเก็บน้ำย่อยของแปลงเกษตรกร 14 จุด เพื่อนำมาใช้ในการเกษตรในพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอต่อการใช้ตลอดทั้งปี กลุ่มผู้ใช้น้ำจึงทำการสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มเติมพบว่า ห้วยมะม่วง มีปริมาณน้ำมากกว่าห้วยจะแว 2 เท่า จึงร่วมกับกรมชลประทาน หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 และ PTT GC จัดทำระบบประปาภูเขา 4 จุด ขุดบ่อพักน้ำ 9 จุด และสูบน้ำขึ้นไปเติมน้ำในบ่อพักน้ำด้วยระบบปั๊มน้ำไฟฟ้าและกระจายน้ำด้วยระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อนำมาใช้ในการเกษตรให้เพียงพอ ควบคู่กับการปรับระบบการปลูกพืช จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่อาศัยน้ำฝน สู่การปลูกพืชแบบประณีตใช้พื้นที่และน้ำน้อยแต่มีมูลค่าสูง เช่น มะม่วง เมล่อน และหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งปลูกร่วมกับการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในที่ดินรายแปลงของเกษตรกร เช่น การทำคูรับน้ำภูเขา ปลูกแฝก และการทำระบบขั้นบันได ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการพัฒนาและส่งเสริมในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 1,075,765 บาทในปีงบประมาณ 2557 เป็น 6,704,537 บาท ในปีงบประมาณ 2562

กิจกรรม สวพส. เพิ่มเติม